กิจกรรม

SocAnp NEWS

ขอแสดงความยินดีกับคุณมลิวัลย์ เสนาวงษ์ ที่ได้รับรางวัลดุษฎีนิพนธ์ดีมาก 2562

 

ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ขอแสดงความยินดีกับคุณมลิวัลย์ เสนาวงษ์ นักศึกษาปริญญาเอกรุ่นแรกของภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ ที่ได้รับรางวัลดุษฎีนิพนธ์ดีมาก ประจำปี 2562 จากบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

“เพศพาณิชย์ข้ามแดนและการต่อสู้ต่อรองของผู้หญิงลาวในพื้นที่ชายแดนไทย-ลาวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย”

มลิวัลย์  เสนาวงษ์

 

อาจารย์ที่ปรึกษา                                         

รศ.ดร. ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี                          อาจารย์ที่ปรึกษาหลัก

ศ.ดร. ยศ  สันตสมบัติ                                     อาจารย์ที่ปรึกษาร่วม

รศ.ดร. นงเยาว์  เนาวรัตน์                                อาจารย์ที่ปรึกษาร่วม

 

 

 

บทคัดย่อ

                        วิทยานิพนธ์นี้มุ่งเน้นการทำความเข้าใจการต่อสู้ต่อรองของผู้หญิงลาวกับอำนาจครอบงำชุดต่าง ๆ ในการค้าประเวณีข้ามแดนในพื้นที่ชายแดนไทย-ลาว เพื่อเลื่อนสถานภาพทางสังคมและเศรษฐกิจของตนเอง และสร้างความเป็นอัตบุคคล การศึกษานี้เป็นงานวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณาโดยเก็บข้อมูลจากประสบการณ์ชีวิตของผู้หญิงลาวแรงงานข้ามชาติ อายุระหว่าง 18 – 28 ปี จำนวน 13 คน ที่เกี่ยวข้องกับการค้าประเวณีในร้านคาราโอเกะในเมืองชายแดนสองแห่งของจังหวัดอุบลราชธานี การทำวิจัยภาคสนามเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2557 เดือนพฤษภาคม 2558

                        การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่า ประการแรก การค้าประเวณีแบบปลายเปิดเชิงโครงสร้างในร้านคาราโอเกะชายแดนไทยทำให้เกิดการสร้างความร่วมมือกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐท้องถิ่นที่ฉ้อฉล ผู้ประกอบการ และผู้หญิงลาวแรงงานข้ามชาติ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการหมุนเวียนของทุน แรงงาน และการบริการทางเพศภายในอุตสาหกรรมเพศพาณิชย์ชายแดน ความร่วมมือดังกล่าวจึงสร้าง “ชายแดนของเพศพาณิชย์” ซึ่งรัฐท้องถิ่น ทุน และเพศมาปฏิสัมพันธ์กันอย่างคลุมเครือ และไม่แน่นอน เพื่อแสวงหาผลประโยชน์และการสะสมทุน ยิ่งไปกว่านั้น การเติบโตของเพศพาณิชย์ข้ามแดนที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิงลาวยังเป็นผลมาจากการสร้างภาพตัวแทนของผู้หญิงลาวในฐานะร่างกายที่แปลกใหม่และเกี่ยวข้องกับกามารมณ์ ด้วยเหตุนี้ “ชายแดนแห่งเชื้อชาติ/ชาติพันธุ์และเพศวิถี” จึงถูกประกอบสร้างขึ้นเป็นการค้าประเวณีของผู้หญิงลาว เพื่อให้นิยามความหมายของอัตลักษณ์ผู้ชายไทยและผู้หญิงลาว อันวางอยู่บนความแตกต่างทางสัญชาติ ชาติพันธุ์ ชนชั้น อายุ เพศภาวะ และเพศวิถี

                        ประการที่สอง การเลือกเข้าสู่งานทางเพศของผู้หญิงลาวมีปัจจัยมาจากความไม่เท่าเทียมทางสังคมและเศรษฐกิจ กอปรกับอุดมการณ์ทางเพศภาวะ ทุนนิยมเสรีนิยมใหม่และความแตกต่างทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและลาว ซึ่งส่งผลต่อการทำให้การเคลื่อนย้ายเป็นเรื่องของผู้หญิงลาว ในฐานะลูกสาว และ/หรือแม่ ผู้หญิงลาวจากชนบทและกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงจึงต้องเคลื่อนย้ายเข้าสู่เมืองใหญ่และประเทศไทยเพื่อมาเป็นแรงงานรับจ้าง และผู้หญิงลาวส่วนหนึ่งก็เคลื่อนย้ายเข้าสู่การค้าประเวณีข้ามพรมแดน ในขณะเดียวกัน การค้าประเวณีข้ามพรมแดนก็กลายมาเป็นทางเลือกเชิงยุทธศาสตร์ของผู้หญิงลาวเพื่อการต่อรองกับโครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม เนื่องจากการค้าประเวณีแบบปลายเปิดเชิงโครงสร้างได้สร้างโอกาสในการแสวงหาผลประโยชน์และอำนาจทางเศรษฐกิจให้กับผู้หญิงลาว อีกทั้งการสร้างสัมพันธภาพระยะยาวกับลูกค้า ผู้หญิงลาวจึงสามารถเลื่อนสถานภาพทางสังคมและเศรษฐกิจ ปรับความสัมพันธ์เชิงอำนาจทางเพศภาวะภายในครัวเรือนของตนเอง และมีอำนาจต่อรองกับลูกค้าในตลาดแห่งการค้าเพศ

                        ประการสุดท้าย ผู้หญิงลาวสร้างความเป็นผู้กระทำการภายใต้โครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ผ่านการฉวยใช้กลยุทธ์การต่อรองที่หลากหลายกับอำนาจต่าง ๆ ในหลายระดับ ได้แก่ หนึ่ง ผู้หญิงลาวได้สร้าง “พื้นที่ที่สาม” ขึ้นมาในการค้าประเวณีข้ามพรมแดน ในฐานะพื้นที่การต่อรอง เพราะผู้หญิงลาวได้นิยามตนเองกับอัตลักษณ์ที่หลากหลาย ซึ่งวางอยู่บนความแตกต่างทางอายุ เพศภาวะ เพศวิถี อาชีพ ชนชั้น และสัญชาติเพื่อลดทอนการถูกตีตราทางสังคม สอง ผู้หญิงลาวสามารถใช้เพศวิถี แรงงานทางอารมณ์ และความสัมพันธ์ใกล้ชิด เพื่อจัดจำแนกลูกค้าชายไทยและสัมพันธภาพระหว่างพวกเธอกับลูกค้า ซึ่งนำไปสู่การสร้างความผูกพันทางอารมณ์ และการได้รับผลประโยชน์ทางวัตถุ  และสาม ผู้หญิงลาวสามารถปรับใช้ร่างกาย เพศวิถี อารมณ์ ความเป็นหญิง และภาษา ซึ่งทำหน้าที่เป็นทุนมนุษย์และทุนทางวัฒนธรรมในการแลกเปลี่ยนกับทุนทางสังคมและเศรษฐกิจ ดังนั้นพวกเธอจึงมีทรัพยากรหรืออำนาจในการต่อรองกับลูกค้าเพื่อผลประโยชน์และการสะสมทุนทางเศรษฐกิจ

 

อ่านเพิ่มเติมได้ที่

Producing Affective Performance and Capital: Lao Migrant Women in the Sex Industry along the Thai-Lao Border 

https://www.tci-thaijo.org/index.php/mekongjournal/article/view/186349