ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก่อตั้งขึ้นและเริ่มเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนมาพร้อม ๆ กับการสถาปนามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วันแรกของห้องเรียนคือ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2507 มีนักศึกษารุ่นนั้น 14 คนด้วยกัน
สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา เป็นความรู้แบบใหม่ที่พัฒนาขึ้นมาจากบริบทประวัติศาสตร์พัฒนาการของการเปลี่ยนแปลงในสังคมยุโรปตะวันตก ถือเป็นสาขาวิชาใหม่และเวลานั้นแทบไม่เป็นที่รู้จักกันในสังคมไทย ในช่วงเริ่มระยะแรกของการเรียนการสอน กระบวนวิชาและหลักสูตรระดับปริญญาตรีของภาควิชาสังคมวิทยาฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงเกือบจะเป็นแบบเดียวกันกับหลักสูตรที่เปิดสอนในมหาวิทยาลัยของสหรัฐอเมริกา (ในเวลานั้น) อีกทั้งอาจารย์ผู้สอนก็ต้องอาศัยชาวต่างชาติจากโครงการ Fulbright ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลอเมริกัน มาช่วยสอน ส่วนอาจารย์ชาวไทยที่สามารถจะสอนได้บ้างนั้นมาจากภาควิชาภาษาอังกฤษ คณะมนุษยศาสตร์ คือ อาจารย์กรรณิกา อาภาภิรมย์ นักศึกษารุ่นแรกๆ ของภาควิชาสังคมวิทยาฯ ส่วนมากจึงต้องเรียนกันเป็นภาษาอังกฤษกับอาจารย์ชาวต่างประเทศ เช่น Professor Donald O. Cowgill, Charles F. Keyes, และ Jack M. Potter
ช่วงเวลาดังกล่าวจะว่าไป คือการบุกเบิกสาขาวิชาสังคมวิทยาฯ ในมหาวิทยาลัยไทย นักศึกษารุ่นแรกของภาควิชาสังคมวิทยาฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อสำเร็จการศึกษา จึงมีโอกาสทำงานนักวิจัยในโครงการของนักวิชาการชาวตะวันตก กระทั่งศึกษาต่อเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยชั้นแนวหน้าของประเทศไทยกันทั้งสิ้น อาทิ ศาสตราจารย์ ดร. สันทัด เสริมศรี (เป็นอาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล), รศ.ดร.พีรสิทธิ์ คำนวณศิลป์ (เริ่มทำงานสอนที่นิด้าก่อน ต่อมาย้ายไปขอนก่อนและเป็นคณบดีผู้ก่อตั้งวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น), รศ.อาภา ศิริวงศ์ ณ อยุธยา (สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย), รศ.ดร. เพ็ญพร ธีระสวัสดิ์ (สถาบันประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย), รศ.ดร. พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิพงษ์ (คณะสังคมวิทยาฯ ม. ธรรมศาสตร์), อาจารย์ชูเพ็ญศรี วงศ์พุทธา (ภาควิชาสถิติ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) และ ผศ.ดร. นฤจร อิทธิจีรจรัส, ผศ.ดร. อุไรวรรณ ตันกิมยง, อาจารย์ ขวัญใจ ไทยทอง (ภาควิชาสังคมวิทยาฯ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)
ประวัติและความเป็นมาของภาควิชา
Our History
How we started, Soc Anp Cmu
พ.ศ. 2507
พ.ศ. 2514
เริ่มมีอาจารย์ชาวไทยที่สำเร็จการศึกษาทางด้านมานุษยวิทยา ที่เข้ามาทำงานเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนึ่งในนั้นคือ อาจารย์สมหมาย เปรมจิตต์ อาจารย์สอนวิชาสังคมวิทยาเบื้องต้น มานุษยวิทยาวัฒนธรรม ขณะนั้นที่ภาควิชาสังคมวิทยาฯ มีอาจารย์เกษม บุรกสิกร เป็นหัวหน้าภาค ในช่วงเวลานี้เองที่ Charles F. Keyes นักมานุษยวิทยาอเมริกันซึ่งได้รับทุนจากมูลนิธิ Fulbright ได้เดินทางเข้ามาทำงานวิจัยและช่วยสอนหนังสือให้กับภาควิชาสังคมวิทยาฯ (ระหว่างเดือนตุลาม 2515 ถึงเดือนมิถุนายน 2517) และร่วมกับอาจารย์สมหมาย นำนักศึกษาสังคมวิทยาฯ รุ่นนั้นที่เรียนวิชาระเบียบวิธีวิจัยออกทำงานภาคสนามที่บริเวณแม่สะเรียง, แม่โถ จังหวัดแม่ฮ่องสอน
“บัณฑิต SOC-ANP รุ่นแรกของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อาจารย์ FULLBRIGHT คนแรกของ SOC-ANP ปี 07 Professor Donald O. Cowgill มาสอนมช. ร่วมกับภรรยา Marry Cowgill โดย Professor Donald O. Cowgill สอนวิชาสังคมวิทยา ส่วน อาจารย์ Marry Cowgill สอนวิชาคณิตศาสตร์สำหรับนักศึกษาสังคมศาสตร์ทั้งหมด อาจารย์ที่นั่งติดกับอาจารย์ Cowgill คืออาจารย์กรรณิการ์ บุนนาค อาจารย์ Cowgill ทั้งสองท่านรักลูกศิษย์รุ่นแรกของท่านมาก ท่านเดินทางมาแสดงความยินดีโดยเฉพาะสำหรับลูกศิษย์ของท่านในงานพระราชทานปริญญาบัตร "ท่านอยู่ในใจของพวกเราเสมอ ตลอดไป"
นฤจร อิทธิจีระจรัส
พ.ศ. 2507 - พ.ศ. 2514
ในช่วง 7 ปีแรก ถือเป็นยุคก่อตั้งภาควิชาสังคมวิทยาฯ อย่างแท้จริง หากไม่นับคณาจารย์ฝรั่งส่วนใหญ่ที่มาช่วยสอนตอนนั้น คือนักสังคมวิทยาหรือนักมานุษยวิทยาฝรั่งจากโครงการ Fulbright อาจารย์ชาวไทยที่สอนส่วนมากยังคงมีพื้นเพทางวิชาการจากสาขาอื่นๆ หรือไม่ก็เป็นอาจารย์ที่มาจากแขนงวิชาอื่นของคณะสังคมศาสตร์ และจากต่างคณะคือ มนุษยศาสตร์ (สอนวิชาภาษาอังกฤษ) และวิทยาศาสตร์ (สอนสถิติและคณิตศาสตร์) กระทั่งหลังปี 2514 จึงเริ่มมีอาจารย์ชาวไทยที่สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศเข้ามารับราขการเป็นอาจารย์สอน อาทิ ดร. บรรพต วีระสัย ซึ่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกทางสังคมวิทยาจาก University of California - Berkeley, อาจารย์ประเสริฐ พันธชาติ จบปริญญาโทมานุษยวิทยาจาก University of Michigan (ย้ายมาจากกรมพัฒนาชุมชน), อาจารย์เเกษม บุรกสิกร จบปริญญาโทสังคมวิทยาจาก University of Texas at Turzon (ย้ายมาจากสภาวิจัยแห่งชาติ) ผู้ซึ่งจะมีบทบาทอย่างสำคัญในการก่อตั้งสถาบันวิจัยสังคมของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในเวลาต่อมา และกลุ่มคณาจารย์อีกส่วนหนึ่งซึ่งเป็นกลุ่มบัณฑิตรุ่นแรกของสังคมวิทยาฯ เชียงใหม่เอง คือ อุไรวรรณ ตันกิมยง, ขวัญใจ ไทยทอง และนฤจร อิทธิจีระจรัส นอกจากนั้น (ระหว่างปี 2515-2516) มีอาจารย์ไทยอีก 2 ท่านคือ อาทิ อาจารย์ไทพีศรีนิวัติ ภักดีกุล ซึ่งจบการศึกษาทางด้านอาชญาวิทยา จากสหรัฐอเมริกา และอาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ ลูกศิษย์ก้นกุฏิของ Lauriston Sharp จากมหาวิทยาลัยคอร์แนล
(จากซ้าย) นฤจร อิทธิจีระจรัส อุไรวรรณ ตันกิยง ประเสริฐ พันธะชาติ สุเทพ สุนทรเภสัช ไทพีศรีนิวัติ ภักดีกุล เกษม บุรกสิกร และสุวิทย์ รุ่งวิสัย ถ่ายภาพร่วมกับนักศึกษาสังคมวิทยาฯ รุ่น 11 (ราวๆ ปี 2514)
พ.ศ. 2516
กลุ่มคณาจารย์ในคณะสังคมศาสตร์ นำโดยอาจารย์เกษม บุรกสิกร ได้ริเริ่มโครงการภายใต้กลุ่ม “งานวิจัยทางสังคมศาสตร์” กระทั่งในปี 2519 มหาวิทยาลัยได้อนุมัติให้จัดตั้งเป็นศูนย์ภายในคณะใช้ชื่อว่า “ศูนย์วิจัยสังคมศาสตร์” การดำเนินงานของศูนย์ฯ ส่วนใหญ่ได้รับเงินสนับสนุนจากสภาวิจัยแห่งชาติและมูลนิธิ โครงการความร่วมมือจากต่างประเทศ จนผ่านไปราวๆ 10 ปี คณะสังคมศาสตร์จึงได้เสนอขอจัดตั้งเป็นสถาบันวิจัยสังคม ให้มีสถานะเทียบเท่ากับหน่วยงานมหาวิทยาลัยระดับคณะ จนได้รับอนุมัติให้มี "โครงการจัดตั้งสถาบันวิจัยสังคม " และยกฐานะโครงการจัดตั้งสถาบันวิจัยสังคม ขึ้นเป็น "สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่" ดำเนินงานด้านการวิจัยมาจนกระทั่งปัจจุบัน
ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นที่ภาควิชาสังคมวิทยาฯ อาจารย์สมหมาย เปรมจิตต์ ก็ได้ริเริ่มดำเนินโครงการ “การสำรวจคัมภีร์ใบลานใน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน” ซึ่งเป็นโครงการระยะยาว ที่เริ่มตั้งปีแต่ปี พ.ศ. 2516 (และสิ้นสุดในปี 2524) โดยการสนับสนุนของสยามสมาคม และมูลนิโตโยต้า ประเทศญี่ปุ่น “โครงการสำรวจคัมภีร์ใบลานฯ” ถือเป็นโครงการวิจัยที่สำคัญและสร้างคุณูปการอย่างสูงต่อแวดวง “ล้านนาคดีศึกษา” กระทั่งปัจจุบัน
“โครงการสำรวจคัมภีร์ใบลานฯ” ย้ายออกจากคณะสังคมศาสตร์ ไปพร้อม ๆ กับ “ศูนย์วิจัยสังคมศาสตร์” (ตั้งขึ้นในปีเดียวกับที่เริ่ม “โครงการสำรวจคัมภีร์ใบลานฯ”) ซึ่งได้รับอนุมัติให้จัดตั้งเป็น สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปี 2526 ดังที่กล่าวมาข้างต้น
อาจารย์สมหมาย เปรมจิตต์ และ อาจารย์ไชยวัฒน์ รุ่งเรืองศรี รับเสด็จ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เสด็จทรงงาน “โครงการสำรวจ อนุรักษ์ และปริวรรตคัมภีร์ใบลาน” ปี พ.ศ. 2518
พ.ศ. 2520
ล่วงเข้าสู่ทศวรรษ 2520 กล่าวได้ว่า ในขณะที่คณะสังคมศาสตร์เติบโตขึ้นมีภาควิชาต่าง ๆ ถึง 5 ภาควิชาคือ สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา, ภูมิศาสตร์, รัฐศาสตร์, เศรษฐศาสตร์ และบริหารธุรกิจ (ปัจจุบันทั้ง 3 ภาควิชาหลังได้แยกออกไปตั้งเป็นคณะใหม่แล้ว) ในภาควิชาสังคมวิทยาฯ เอง ก็ได้มีการปรับเปลี่ยนและพัฒนา สังเกตจากจำนวนอาจารย์ชาวไทยที่ได้รับทุนมูลนิธิฟอร์ดไปศึกษาต่อต่างประเทศในระดับปริญญาเอกมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เช่น อานันท์ กาญจนพันธุ์, อุไรวรรณ ตันกิมยง และไชยวัฒน์ รุ่งเรืองศรีอีกส่วนหนึ่งที่สำเร็จการศึกษาระดับมหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยในประเทศไทยและต่างประเทศก็เข้ามาทำงานรับราชการเป็นอาจารย์ประจำเพิ่มมากขึ้น คือ วารุณี ภูริสินสิทธิ์, เบ็ญจา จิรภัทรพิมล, สุภาพร นาคบัลลังก์ และนภา วินิจฉัยกุล เป็นต้น
คณาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาฯ อาทิ อาจารย์เบ็ญจา จิรภัทรพิมล อาจารย์สมหมาย เปรมจิตต์ อาจารย์อุไรวรรณ ตันกิมยง อาจารย์นภา วินิจฉัยกุล (แถวยืนคนที่ 2 จากซ้ายจนถึงคนที่ 4 ตามลำดับ) สุภาพร นาคบัลลังก์ (แถวนั่งคนที่ 2 จากซ้าย) และนฤจร อิทธิจีระจรัส (นั่งกลาง) ถ่ายภาพร่วมกับนักศึกษา ราวๆ ปลายทศวรรษ 2520
พ.ศ. 2530
นับจากต้นทศวรรษ 2530 ถือเป็นช่วงเวลาแห่งการเติบโตเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างของภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาอย่างสำคัญ กล่าวคือขณะที่อาจารย์ซึ่งได้รับทุนศึกษาต่อต่างประเทศทยอยเดินทางกลับเข้ามาทำงานหลังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก อาจารย์หน้าใหม่ท่านอื่น ๆ ก็เพิ่มจำนวนมากขึ้น อาทิ จามะรี เชียงทอง, ภุทชงค์ กุณฑลบุตร, ทัศนีย์ ปุวรัตน์ และจิราลักษณ์ จงสถิตมั่น การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวสอดคล้องไปกับการปรับเปลี่ยนด้านการเรียนการสอนในภาควิชาสังคมวิทยาฯ ที่ได้มีการปรับปรุงหลักสูตรระดับปริญญาตรีทั้งในเชิงโครงสร้างและในเชิงเนื้อหา ที่สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยมากขึ้น นอกจากนั้นยังมีการแยกกลุ่มวิชาเฉพาะ อันประกอบด้วย กลุ่มวิชาสังคมวิทยา กลุ่มวิชามานุษยวิทยา กลุ่มวิชาสังคมสงเคราะห์ และกลุ่มวิชาพัฒนาสังคม เพื่อให้ผู้เรียนมีโอกาสเลือกตามความถนัด ตลอดจนความสามารถที่จะประยุกต์ใช้ความรู้เชิงวิชาการในการทำงานในสายวิชาชีพต่าง ๆ โครงสร้างดังกล่าว “สืบต่อ” มาจนถึงปัจจุบัน ผ่านระบบการเรียนการสอนที่มีวิชา “ฝึกปฏิบัติงานภาคสนาม” และกระบวนวิชาสัมมนาปัญหาพิเศษ ที่มุ่งให้ผู้เรียนได้มีโอกาสสัมผัสชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน และมีประสบการณ์การทำงานในโลกแห่งความเป็นจริง และการแลกเปลี่ยนสัมมนาเชิงวิชาการที่เสมือน “ตัววัด” ทักษะความรู้ความสามารถของนักศึกษาก่อนที่จะสำเร็จการศึกษา สมกับเป็นบัณฑิตสาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
พ.ศ. 2533
นับจากต้นทศวรรษ 2530 ถือเป็นช่วงเวลาแห่งการเติบโตเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างของภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาอย่างสำคัญ กล่าวคือขณะที่อาจารย์ซึ่งได้รับทุนศึกษาต่อต่างประเทศทยอยเดินทางกลับเข้ามาทำงานหลังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก อาจารย์หน้าใหม่ท่านอื่น ๆ ก็เพิ่มจำนวนมากขึ้น อาทิ จามะรี เชียงทอง, ภุทชงค์ กุณฑลบุตร, ทัศนีย์ ปุวรัตน์ และจิราลักษณ์ จงสถิตมั่น การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวสอดคล้องไปกับการปรับเปลี่ยนด้านการเรียนการสอนในภาควิชาสังคมวิทยาฯ ที่ได้มีการปรับปรุงหลักสูตรระดับปริญญาตรีทั้งในเชิงโครงสร้างและในเชิงเนื้อหา ที่สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยมากขึ้น นอกจากนั้นยังมีการแยกกลุ่มวิชาเฉพาะ อันประกอบด้วย กลุ่มวิชาสังคมวิทยา กลุ่มวิชามานุษยวิทยา กลุ่มวิชาสังคมสงเคราะห์ และกลุ่มวิชาพัฒนาสังคม เพื่อให้ผู้เรียนมีโอกาสเลือกตามความถนัด ตลอดจนความสามารถที่จะประยุกต์ใช้ความรู้เชิงวิชาการในการทำงานในสายวิชาชีพต่าง ๆ โครงสร้างดังกล่าว “สืบต่อ” มาจนถึงปัจจุบัน ผ่านระบบการเรียนการสอนที่มีวิชา “ฝึกปฏิบัติงานภาคสนาม” และกระบวนวิชาสัมมนาปัญหาพิเศษ ที่มุ่งให้ผู้เรียนได้มีโอกาสสัมผัสชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน และมีประสบการณ์การทำงานในโลกแห่งความเป็นจริง และการแลกเปลี่ยนสัมมนาเชิงวิชาการที่เสมือน “ตัววัด” ทักษะความรู้ความสามารถของนักศึกษาก่อนที่จะสำเร็จการศึกษา สมกับเป็นบัณฑิตสาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
ในปีการศึกษา 2533 ภาควิชาสังคมวิทยาฯ ได้เริ่มเปิดหลักสูตรปริญญาโทสาขาวิชาการพัฒนาสังคม รับนักศึกษาเข้าศึกษาต่อระดับมหาบัณฑิต ผลิตการวิจัยผ่านการทำงานวิทยานิพนธ์ที่เน้นการทำงานภาคสนามอย่างเข้มข้น กระทั่งสร้างสรรค์องค์ความรู้ด้านการพัฒนาอย่างมีแนวทางเฉพาะตัว จนได้รับการขนานนามว่า “สำนักเชียงใหม่” ที่เน้นศึกษาประเด็นปัญหาเกี่ยวกับเรื่อง “ดิน น้ำ ป่า” ควบคู่ไปกับการสนับสนุนขบวนการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนที่เรียกร้องสิทธิและความเป็นธรรมต่าง ๆ ที่เป็นผลกระทบจากโครงการพัฒนา
หลักสูตรการพัฒนาสังคมเปิดสอนผลิตมหาบัณฑิตอย่างต่อเนื่องนานกว่า 2 ทศวรรษ ภาควิชาสังคมวิทยาฯ จึงได้ปิดหลักสูตรลงไปในปีการศึกษา 2556 ทั้งนี้เพื่อปรับเปลี่ยนทิศทางการศึกษาวิจัยและการเรียนการสอนให้มีทิศทางที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยและสังคมโลก นับจากช่วงทศวรรษ 2550 เป็นต้นมา กล่าวได้ว่า สังคมไทยได้ถูกผนวกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบตลาดโลกอย่างเข้มข้น ปรากฏการณ์วัฒนธรรม ความขัดแย้ง และการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ที่อุบัติขึ้นในสังคมไทยและสังคมเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีปรวมจนไปถึงจีนตอนใต้ นอกจากจะสลับซับซ้อน เกี่ยวพันกัน หลาย ๆ กรณีเป็นประเด็นปัญหาที่แยกไม่ออกจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอันเป็นผลมาจากการพัฒนาระดับภูมิภาคและการปรับเปลี่ยนของรัฐและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และการเปลี่ยนแปลงเคลื่อนตัวของทุน ผู้คน ตลอดจนอุดมการณ์ความคิดที่ดำเนินไปในระดับโลก
ในบริบทดังกล่าวนอกจากการเรียนการสอนที่จำต้องมีการปรับเปลี่ยน หรือแม้แต่รื้อถอนในระดับเนื้อหา ในเชิงวิชาการโครงการวิจัยของคณาจารย์และนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาของภาควิชาสังคมวิทยาฯ ก็มีทิศทางการการเปลี่ยนแปลงที่ทั้งถูกกำหนดจากนโยบายและปรากฏการณ์สังคม อันมีส่วนอย่างสำคัญต่อความสนใจทางวิชาการ หรือกระแสความคิดในแวดวงสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ทั้งนี้ดังสะท้อนผ่านผลงานและทิศทางการวิจัยของกลุ่มคณาจารย์ในภาคสังคมวิทยาฯ ที่ปัจจุบันอาจยอกเป็นกลุ่มวิจัยด้านต่างๆ เป็น 4 ด้านสำคัญด้วยกันคือ
1.กลุ่มวิจัยด้านงานวิจัยและนโยบายสังคม (Research and Social Policy)
2.กลุ่มวิจัยด้านชายแดนศึกษา (Border Studies)
3.กลุ่มวิจัยด้านสภาวะข้ามชาติและการเดินทางเคลื่อนที่ (Trasnationalism and Mobility)
4.กลุ่มวิจัยด้านวัฒธนธรรมศึกษาและสังคมร่วมสมัย (Cultural Studies and Contemporary Society)
พ.ศ. 2556 - ปัจจุบัน
ตั้งแต่ปีการศึกษา 2556 เป็นต้นมา นอกจากการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรีที่ดำเนินมากว่า 50 ปี ภาควิชาสังคมวิทยาฯ ได้เปิดหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา ยกระดับความก้าวหน้าเชิงวิชาการไปสู่การมุ่งผลิตบัณฑิตไปจนถึงระดับปริญญาเอก ปัจจุบัน ภาควิชาสังคมวิทยาฯ จึงมีหลักสูตรที่เปิดสอนทั้งในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ในชื่อเดียวกันคือ “สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา”
ผ่านไป 5 ทศวรรษ ภาควิชาสังคมวิทยาฯ ผลิตบัณฑิตสาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ออกไปทำงานรับใช้สังคมในกลุ่มสาขาอาชีพต่างๆ ทั้ง งานวิชาการ หน่วยงานภาครัฐ งานภาคเอกชน และการเคลื่อนไหวภาคประชาชน อย่างต่อเนื่อง ขณะที่คณาจารย์ยุคบุกเบิกของภาควิชาจำนวนไม่น้อย ทั้งล้มหายตายจากปละเกษียรอายุราชการ คณาจารย์กลุ่มใหม่ก็เข้ามาทำงานสานต่อปณิธานและจุดยืนอันเป็นอัตลักษณ์ของสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาเชียงใหม่ คือการทำหน้าที่วิชาการรับใช้สังคม
วสันต์ ปัญญาแก้ว เรียบเรียง