ข่าวสาร
เชิญชวนเข้าร่วมงานเสวนาของนักศึกษาระดับปริญญาตรี
บทคัดย่อวงเสวนาวิชาการโดยกลุ่มนักศึกษาปริญญาตรี ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา “อำนาจแบบไทยศึกษากับการเปลี่ยนผ่านจินตนาการเรื่อง ‘ความเป็นไทย’: เมื่อเบี้ยล่าง (นักศึกษาปริญญาตรี) เล่าเรื่อง”
ศุกร์ 19 ส.ค. 59
ณ ห้องประชุมกระจก (ตรงข้ามห้อง 4107)
เวลา 13.00-14.30 น.
ผู้ร่วมเสวนา
- อิทธิพล ชาญณรงค์
- ศุภเกีรยติ เมืองแก้ว
- รวิโรจน์ ไทรงาม
- การัณยภาส ภู่ยงยุทธ์
ผู้ดำเนินรายการ
อ.นันทวัฒน์ ฉัตรอุทัย
มักเป็นที่ทราบกันดีในหมู่นักวิชาการหรือผู้สนใจว่า หนึ่งในคุณูปการสำคัญของ “ไทยศึกษา” ก็คือการเปิดเผยให้เห็นถึงความเป็นมาและอิทธิพลของอุดมการณ์ชาตินิยมไทยที่มีต่อสังคมไทยร่วมสมัย
ซึ่งหากกล่าวในเชิงโวหารแล้วไทยศึกษาก็มีภารกิจที่จะ “ปลดปล่อย” คนไทยออกจากอำนาจของจินตนาการเรื่องความเป็นไทยแบบชาตินิยมนั่นเอง
น่าสนใจว่าไทยศึกษาในแง่นี้มีบทบาทในการเปลี่ยนจินตนาการเรื่องชาติไทยและ “ความเป็นไทย” ทั้งในหมู่นักวิชาการและผู้เรียนไปอย่างมาก
อย่างไรก็ดี มุมมองที่เปลี่ยนไปนี้ก็ยากที่จะบอกได้ว่าเป็นมุมมองที่ถูกปลดปล่อยแล้ว เพราะสุดท้ายจินตนาการเรื่องสังคมไทยแบบไทยศึกษาก็ผูกพันกับอุดมการณ์อีกชุด รวมทั้งผูกโยงกับระบบการศึกษาและการผลิตความรู้แบบสมัยใหม่ในมหาวิทยาลัยอย่างเข้มข้น
เป็นไปได้หรือไม่ว่า ทางหนึ่งที่จะช่วยเปิดเผยให้เห็นถึงไทยศึกษาในแง่ที่เป็นปฏิบัติการของอำนาจ-ความรู้อีกแบบหนึ่งก็คือ การเปิดโอกาสให้นักเรียนปริญญาตรีผู้อยู่ในฐานะของเบี้ยล่างของระบบวินัยการศึกษาแบบไทยศึกษา ได้ย้อนสะท้อนคิดถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับจินตนาการเรื่องความเป็นไทยและชาติไทยของพวกเขาหลังจากที่ได้เข้ามาเรียนในระดับปริญญาตรีว่าเกิดขึ้นจากเหตุใด ความรู้และโวหารทางวิชาการแบบไหนที่ทำให้พวกเขาเปลี่ยนความคิด ความคิดของพวกเขาเปลี่ยนไปมากเพียงใดหรือเปลี่ยนไปจริงหรือไม่ รวมถึงพวกเขาคิดว่าไทยศึกษามีพลังในการอธิบายสังคมไทยจริงหรือไม่
รูปภาพเพิ่มเติม