กิจกรรม

SocAnp NEWS

บทความนักศึกษา: ธุรกิจของคนจีนในเชียงใหม่

เป็นที่ทราบกันดีว่า มีชาวจีนจำนวนมากเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย และจังหวัดเชียงใหม่นั้น ถือว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของชาวจีน อย่างไรก็ตาม การเข้ามาของชาวจีนไม่ได้นั้นเข้ามาในรูปแบบของการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว แต่ยังเข้ามาในรูปแบบของการลงทุน การทำธุรกิจ ซึ่งส่งทั้งผลบวกและลบต่อจังหวัดเชียงใหม่



ธุรกิจของคนจีนในเชียงใหม่

ผู้เขียน: นายกฤตวิทย์ ผลวัฒนะ (นักศึกษาภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

บทนำ

            ประเทศจีน หรือ สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก และมีการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจที่เติบโตรวดเร็วจนเข้าไปอยู่ในสมาชิกกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ จี 20 (Group of Twenty Finance Ministers and Central Bank Governors) สิ่งเหล่านี้ทำให้เหล่าประเทศในอุษาอาคเนย์ต้องการที่จะให้ชาติมหาอำนาจใหม่ที่มีความมั่งคั่งอย่างประเทศจีนนี้ เข้ามาทำการค้าขายหรือลงทุนในประเทศของตนเองเพื่อช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศตน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของธุรกิจการท่องเที่ยว การเกษตร อุตสาหกรรม ฯลฯ ซึ่งกรณีศึกษาการเข้ามาของนักลงทุนชาวจีนในประเทศไทยที่พอจะเห็นได้ชัดคงหนีไม่พ้นจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดที่ได้รับความนิยมมากในหมู่นักท่องเที่ยวจีน อันเนื่องมาจากหลายปัจจัยดังที่จะกล่าวในหัวข้อต่อไป แต่ปรากฏการณ์เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะการเข้ามาของนักลงทุนชาวจีนส่งผลให้เมืองเชียงใหม่ และประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางต่าง ๆ บทความนี้จึงจะกล่าวถึงที่มาของนักท่องเที่ยวชาวจีนและผู้ลงทุนชาวจีนที่เข้ามาลงทุนในเชียงใหม่ในรูปแบบต่าง ๆ และส่งผลให้เกิดผลกระทบในเรื่องต่าง ๆ ทั้งทางที่ดีและน่ากังวลในจังหวัดเชียงใหม่   

นักท่องเที่ยวชาวจีนในประเทศไทย

ข้อมูลทางสถิติจากกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่าในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 มีนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามาท่องเที่ยวในเมืองไทยทั้งหมด 958,204 คน คิดเป็นร้อยละ 31.02 ซึ่งเพิ่มขึ้นมากจากเดือนกุมภาพันธ์ปี 2558 ที่มีชาวจีนเข้ามาเพียง 780,516 คน โดยจำนวนนี้ยังไม่ได้นับชาวฮ่องกงหรือไต้หวัน แสดงให้เห็นถึงความนิยมของนักท่องเที่ยวชาวจีนที่ต้องการมาท่องเที่ยวในประเทศไทย

สำหรับข้อมูลสถิตินักท่องเที่ยวชาวจีนในจังหวัดเชียงใหม่ปี 2557 นายวิสูตร บัวชุม ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ตลอดช่วงสามปีที่ผ่านมานี้จำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีอัตราการเพิ่มขึ้นปีละไม่ต่ำกว่า 50% จากในปี 2554 ที่มีจำนวนอย่างเป็นทางการประมาณ 40,000 คนเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าปีละ 150,000 คนในปัจจุบัน และยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง[1] ข้อมูลเหล่านี้ชี้ให้เห็นชัดถึงชาวจีนที่นิยมมาเที่ยวประเทศไทยและจังหวัดเชียงใหม่เพิ่มมากขึ้นทุกปี ซึ่งสาเหตุอาจมาจากสองปัจจัยหลักคือ การคมนาคมที่ดีขึ้น นอกจากสายการบินต้นทุนต่ำที่เกิดขึ้นมากมายแล้วยังมีการพัฒนาถนนที่เชื่อมต่อระหว่างประเทศ เช่น ถนนที่มีชื่อเรียกว่า "R3A" เชื่อมต่อระหว่าง เมืองคุนหมิง (Kunmimg) ประเทศจีน ผ่านเข้าไปในประเทศลาว เชียงราย เข้าสู่เชียงใหม่แล้วต่อไปยังกรุงเทพฯ ได้อีกด้วย นักท่องเที่ยวจีนสามารถนำรถของตนเสียค่าธรรมเนียมและนำมาขับในประเทศต่าง ๆ รวมถึงในเส้นทางนี้ได้สะดวกยิ่งขึ้น และปัจจัยที่สองคือ เรื่องของสื่อนอกจากภาพยนตร์หรือละครที่มักมีเนื้อหาเกี่ยวกับประเทศไทยแล้ว ปัจจุบันยังมีสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศมากมายที่แลกเปลี่ยนข้อมูลประสบการณ์การท่องเที่ยวซึ่งกันและกันได้อย่างสะดวกรวดเร็วด้วยสองปัจจัยนี้จึงอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนในประเทศไทยหรือที่จังหวัดเชียงใหม่เพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี

 

ผลสืบเนื่องของการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีน

            อันเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนในจังหวัดเชียงใหม่ นอกจากจะเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของประเทศแล้ว ยังส่งผลให้เมืองเชียงใหม่เริ่มเป็นที่น่าสนใจสำหรับการลงทุนเกี่ยวกับธุรกิจการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนชาวไทยเอง หรือนักลงทุนรายใหม่อย่างนักลงทุนชาวจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจชิบปิ้ง (Shipping) นักลงทุนชาวจีนมองเห็นถึงโอกาสทางธุรกิจที่มีลูกค้าเป็นกลุ่มคนจีนที่มาท่องเที่ยวในเมืองเชียงใหม่เป็นหลัก เริ่มมีอสังหาริมทรัพย์ที่เปิดให้เช่าเฉพาะคนจีนเท่านั้น ดังจะเห็นได้จากคำกล่าวของนายวัชระ ตันตรานนท์ ประธานกรรมการกลุ่มวีกรุ๊ป นักพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของจังหวัดเชียงใหม่ ว่า “การลงทุนที่เห็นชัดของกลุ่มทุนจีนในจังหวัดเชียงใหม่ขณะนี้ก็คือ โครงการลงทุนด้านโรงแรม โดยส่วนใหญ่นักลงทุนจีนจะเข้ามาซื้อโรงแรมขนาดเล็กของคนไทย ขนาดการลงทุนราว 100-200 ล้านบาท โดยมีกลุ่มเป้าหมายลูกค้าคือนักท่องเที่ยวจีน”[2]ดังนั้นเมื่อนักท่องเที่ยวจีนบางกลุ่มไปใช้บริการกับนักลงทุนชาวจีนกันเองเช่นนี้จึงเกิดคำถามที่น่าสนใจว่า ธุรกิจจีนลักษณะนี้จะส่งผลดีหรือผลเสียต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย หรือกลุ่มนักลงทุนรายย่อยของไทยหรือไม่ ?

รูปแบบธุรกิจของนักลงทุนจีนที่ปรากฏ

            นายพรชัย จิตรนวเสถียร นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ ได้แยกรูปแบบการลงทุนของนักธุรกิจจีน 3 ลักษณะ คือ 1. เข้ามาแบบถูกกฎหมายโดยเข้ามาร่วมลงทุนถือหุ้น 49% ต่อ 51% 2. เข้ามาลงทุนด้วยการให้คนไทยเป็นผู้จดทะเบียนบริษัท และบริหารตามนโยบายที่กลุ่มทุนกำหนด และ 3. กลุ่มนักเรียน นักศึกษา ที่เข้ามาเรียนในจังหวัดเชียงใหม่และเช่าอพาร์ทเม้นท์หอพักไว้ เพื่อให้นักท่องเที่ยวชาวจีนใช้พักอาศัย[3] จากการสัมภาษณ์คุณ Lan Xiaoxia นักธุรกิจรายย่อยและนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ชาวจีน พบว่า นักลงทุนชาวจีนจะนิยมรูปแบบที่ 1 และ 2 มากที่สุด คือ ถือหุ้นในอัตราส่วน 49% ต่อ 51% โดยให้คนไทยเป็นผู้จดทะเบียน แต่ก็ไม่ได้มีอำนาจในการตัดสินใจ หรือบางที่อาจให้คนไทยเป็นตัวแทนนักธุรกิจชาวจีนในการบริหารจัดการ มีการทำสนธิสัญญานอกกฎหมายตกลงกับคนไทยว่าให้เป็นนอมินี (Nominee) ของนักลงทุนชาวจีน ดังตัวอย่างสถานที่ธุรกิจของชาวจีนในเชียงใหม่ที่ผู้ศึกษาได้มีโอกาสออกไปสอบถามข้อมูลประกอบงานศึกษา เช่น ห้างหุ้นส่วนจำกัด เฮลโล ชิปปิ้ง (Hello Shipping)

 

กรณีศึกษา ห้างหุ้นส่วนจำกัด เฮลโล ชิปปิ้ง (Hello Shipping)

            บริษัทของนักลงทุนจีนรายนี้ตั้งอยู่ที่ ต.หนองแก๋ว อ.หางดง จ.เชียงใหม่ เป็นธุรกิจโลจิสติกที่บริการขนสินค้าไปยังประเทศจีน คุณโกสินทร์ ผู้ช่วยผู้จัดการคนจีนที่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้กล่าวกับผู้ศึกษาว่า “บริษัทที่ตนทำงานนั้นมีลักษณะของการถือหุ้น อัตรา 49% ต่อ 51% โดยจะเลือกคนไทยที่เชื่อถือได้ แต่คนไทยคนนั้นจะไม่มายุ่งเกี่ยวกับการทำงานของบริษัท พนักงานในออฟฟิศล้วนแล้วแต่เป็นคนจีนทั้งสิ้น โดยมีลูกค้าส่วนมากเป็นคนจีนเป็นลูกค้ารายใหญ่ รายย่อยมีบ้างประปราย” คำกล่าวนี้ของคุณโกสินทร์เป็นหลักฐานที่มายืนยันรูปแบบการทำธุรกิจจีนในแบบที่ 1  คือการเข้ามาแบบถูกกฎหมายโดยเข้ามาร่วมลงทุนถือหุ้น 49% ต่อ 51% ประกอบกับยังเป็นบริษัทที่มีลูกค้าชาวจีนที่เป็นนักท่องเที่ยวเป็นอันดับต้น ๆ โดยสินค้าที่ส่งไปประเทศจีนมักจะเป็นของที่นักท่องเที่ยวชาวจีนซื้อในเชียงใหม่ เช่น ผลไม้อบแห้ง เครื่องสำอาง เป็นต้น โดยจะส่งไปรวมกันที่เมืองคุนหมิง ประเทศจีน แล้วค่อยทยอยกระจายสินค้าสู่มือผู้ใช้บริการชาวจีนในประเทศของตน อาจกล่าวได้ว่าเป็นรูปแบบธุรกิจที่ชาวจีนบริการชาวจีนกันเอง โดยที่ไม่มีนักธุรกิจชาวไทยเกี่ยวข้องเท่าไรนัก

 

ผลกระทบของปรากฏการณ์ธุรกิจจีนที่หลั่งไหลเข้ามา

หากกล่าวถึงธุรกิจจีนที่เริ่มเข้ามาลงทุนในเชียงใหม่ประเภทอสังหาริมทรัพย์ หรือโลจิสติกในเชียงใหม่อาจจะยังไม่ทำให้เราเห็นภาพของผลกระทบมากนัก แต่หากผู้ศึกษาขออนุญาตยกตัวอย่างกรณีศึกษาจากกรณีที่มีคนจีนเริ่มใช้รถทัวร์ตัวเองขนนักท่องเที่ยวชาวจีนขึ้นวัดพระธาตุดอยสุเทพ[4] อาจทำให้เราเห็นภาพผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ดีขึ้น กล่าวคือนักท่องเที่ยวชาวจีนหัวธุรกิจบางคนได้นำรถทัวร์ของตนเองมาเก็บค่าโดยสารและบริการคนจีนที่ต้องการขึ้นไปท่องเที่ยวบนวัดพระธาตุดอยสุเทพเอง ส่งผลให้มีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่แสดงความคิดเห็นไม่พอใจ โดยมองว่าเป็นการแย่งงานของคนไทยทำ ซึ่งในที่นี้อาจอนุมานเอาว่า เป็นกลุ่มคนขับรถสี่ล้อแดง รถแท็กซี่ หรืออื่น ๆ ที่บริการนำนักท่องเที่ยวขึ้นดอยสุเทพเป็นประจำอยู่แล้วนั้นเอง กลับกลายเป็นว่าเริ่มมองเห็นถึงความขัดแย้งระหว่างนักลงทุนชาวไทยและนักลงทุนชาวจีนที่ยึดโยงเอาเรื่องความเป็นชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง

            นอกจากประเด็นเรื่องผลประโยชน์ทางธุรกิจแล้ว ประเด็นเรื่องของการแย่งทรัพยากรธรรมชาติก็เช่นกัน ดังจะเห็นได้จากข่าวเกี่ยวกับการแย่งสูบน้ำของสวนกล้วยหอมที่ปลูกเช่าที่ดินโดยบริษัทจีนในจังหวัดเชียงราย[5] ที่เกิดความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านในพื้นที่กับเจ้าของสวนกล้วยภายใต้การลงทุนจากจีน ดังนั้นนอกจากจะเป็นการแย่งชิงผลประโยชน์ทางธุรกิจแล้ว ยังเป็นเรื่องของการแย่งชิงทรัพยากรกันอีกด้วย กลายเป็นความขัดแย้งระหว่างคนท้องถิ่นกับคนที่พึ่งเข้ามาใหม่เฉกเช่นนักลงทุนชาวจีน การหลั่งไหลเข้ามาของธุรกิจจีนจำนวนมากที่ขาดการควบคุมดูแลหรือมีกฎหมายที่ชัดเจนจากรัฐมารองรับมักจะสร้างปัญหาให้กับประเทศในเรื่องต่าง ๆ ได้ สุดท้ายแล้วผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจก็อาจไม่ได้ตกถึงมือนักลงทุนท้องถิ่นแต่ไปอยู่ในกลุ่มนักลงทุนชาวจีน

 

บทสรุป

นักท่องเที่ยวชาวจีนนิยมมาเที่ยวประเทศไทยและจังหวัดเชียงใหม่เพิ่มมากขึ้นทุกปี ซึ่งสาเหตุอาจมาจากเรื่องของ 2 ปัจจัยหลัก ๆ คือ ปัจจัยในเรื่องของการคมนาคมที่ดีขึ้น และปัจจัยในเรื่องของสื่อ การเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจีนนี้ส่งผลให้เกิดการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวมากขึ้น เช่นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยนักลงทุนไม่ได้มีเพียงชาวไทยเท่านั้นแต่มีนักลงทุนชาวจีนด้วย ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจโลจิสติกส์ หรือชิบปิ้ง (Shipping) เป็นที่นิยมในหมู่นักลงทุนชาวจีน ผู้ศึกษาเชื่อว่า รูปแบบการลงทุนของนักธุรกิจจีนอาจสามารถแบ่งได้เป็น 3 รูปแบบ 1. เข้ามาแบบถูกกฎหมายโดยเข้ามาร่วมลงทุนถือหุ้น 49% ต่อ 51% 2. เข้ามาลงทุนด้วยการให้คนไทยเป็นผู้จดทะเบียนบริษัทและบริหารตามนโยบายที่กลุ่มทุนกำหนด และ 3. กลุ่มนักเรียน นักศึกษา ที่เข้ามาเรียนในจังหวัดเชียงใหม่ โดยจำนวนของนักลงทุนรูปแบบที่ 1 กับ 2 จะเป็นที่นิยมมากที่สุดธุรกิจในรูปแบบนี้ เช่น ห้างหุ้นส่วนจำกัด เฮลโล ชิปปิ้ง (Hello Shipping)ต.หนองแก๋ว อ.หางดง จ.เชียงใหม่ เป็นธุรกิจโลจิสติกที่บริการขนสินค้าไปยังประเทศจีน เป็นต้น

ผลกระทบที่เกิดจากการเข้ามาจำนวนมากของนักลงทุนชาวจีนอาจก่อปัญหากับนักลงทุนชาวไทย หรือนักลงทุนรายย่อยในท้องถิ่นได้ 2 แบบคือ 1. ความขัดแย้งในเรื่องผลประโยชน์ทางธุรกิจ เช่น กรณีของรถทัวร์ชาวจีนที่รับจ้างพาเฉพาะคนจีนขึ้นไปบนวัดพระธาตุดอยสุเทพแทนผู้รับจ้างชาวไทย เป็นต้น  และ 2. ความขัดแย้งในเรื่องของการแย่งทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ในกรณีของการแย่งกันสูบน้ำจากแม่น้ำอิงมาเลี้ยงการเกษตรของตนเองระหว่างสวนของคนไทยและสวนของชาวจีน เป็นต้น

 

ขอบคุณภาพประกอบจาก: pexels.com


[1] ASTV ผู้จัดการออนไลน์, ททท.เผยเชียงใหม่นักท่องเที่ยวจีนมีอัตราเพิ่มมากกว่า 50% ต่อปี, 6/5/2557, http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9570000046092 , สืบค้นวันที่ 22/3/2559

[2]ประชาชาติธุรกิจ, จีนซึมลึกธุรกิจ "เชียงใหม่" หมื่นล้าน ผุดบ้าน-คอนโดฯสู่ไชน่าทาวน์, 18/3/2559 , http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1457871107, สืบค้นวันที่ 22/3/2559

[3]กรุงเทพธุรกิจ, “ทุนจีน”บุกเชียงใหม่ลุยซื้อ“อสังหาฯ”, 3/7/2558, http://www.home.co.th/hometips/detail/81305, สืบค้นวันที่ 22/3/2559

[4] ASTV ผู้จัดการออนไลน์, เที่ยวไทยอาการหนัก จีนใช้รถทัวร์ตัวเองขนนักท่องเที่ยวขึ้น "ดอยสุเทพ" รถบ้านบุกกรุงจอดไหว้ "พระพรหม", 24/2/2559, http://www.thaiday.com/HotShare/ViewNews.aspx?NewsID=9590000019846, สืบค้นวันที่ 24/3/2559

[5] TCIJ, ชาวบ้านโวยสวนกล้วยจีนบุกเชียงรายสูบน้ำอิงแห้ง, 23/3/2559, http://tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=6118, สืบค้นวันที่ 24/3/2559