กิจกรรม

SocAnp NEWS

“ถังแดง”บทเรียนจากความตาย จุฬารัตน์ ดำรงวิถีธรรม “ถีบลงเขา เผาลงถังแดง”

“ถีบลงเขา เผาลงถังแดง” วลีที่ได้ยินกันอย่างแพร่หลาย แต่ความทรงจำของสังคมในเรื่องนี้กลับเลือนราง 

อาจเพราะเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในบางพื้นที่ ในระยะเวลาหนึ่ง ไม่เป็นที่รับรู้ของสังคม ข่าวถูกเสนอขึ้นมาเมื่อเหตุการณ์จบไปหลายปีแล้ว และไม่มีการสืบสวนนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ

แต่ยืนยันความโหดร้ายในวิธีที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้เข้าปราบปรามกับประชาชนได้ดี

เผยแพร่ครั้งแรก: มติชนรายวัน วันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2559
ผู้เขียน: วจนา วรรลยางกูร



เหตุการณ์ “ถังแดง” เกิดช่วงสงครามเย็น เมื่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเข้าปราบปรามแนวร่วมพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ช่วงทศวรรษ 2510

ในภาคใต้ก็นำโมเดลการปราบปรามอย่างรุนแรงมาใช้ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดพัทลุงและพื้นที่ใกล้เคียง ตรัง นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นเขตเคลื่อนไหวของ พคท.

ถีบลงเขา คือ การถีบลงมาจากเฮลิคอปเตอร์

เผาลงถังแดง คือ การนำคนใส่ถังน้ำมันพร้อมเชื้อเพลิง เผาทั้งที่เสียชีวิตและยังมีชีวิต ซึ่งวิธีนี้จะทิ้งร่องรอยไว้น้อยมาก

เหตุการณ์นี้รุนแรงขึ้นมาในช่วงปี 2514 จนถึงก่อน 14 ตุลาคม 2516 ก่อนที่รัฐจะเปลี่ยนไปใช้การปราบปรามวิธีการอื่นๆ เมื่อมีผู้เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์มากขึ้น

หนังสือเล่มล่าสุดที่พูดถึงเรื่องนี้ “ถังแดง : การซ่อมสร้างประวัติศาสตร์และความทรงจำหลอนในสังคมไทย” เพิ่งตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ดัดแปลงจากวิทยานิพนธ์ของ จุฬารัตน์ ดำรงวิถีธรรม เมื่อครั้งศึกษาปริญญาโทที่ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภายหลังจากจบปริญญาตรีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

อ่านข้อมูลและบทสัมภาษณ์เพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์มติชน

หมายเหตุ

หนังสือเล่มนี้ดัดแปลงมาจากวิทยานิพนธ์ (ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชาการพัฒนาสังคม) -- มหาวิทยาลัยเชียงใหม่"การซ่อมสร้างประวัติศาสตร์และความทรงจำหลอน : การศึกษากิจกรรมจากความทรงจำกรณี ถังแดง ในชุมชนลำสินธุ์ อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง" 
อาจารย์ที่ปรึกษาผศ.ดร.อภิญญา  เฟื่องฟูสกุล
ปีการศึกษา2552