กิจกรรม

SocAnp NEWS

บทความนักศึกษา: นัยแห่งการจัดระเบียบทางสังคมที่ซ่อนอยู่ภายใต้กลยุทธ์ซ่อมถนนยางมะตอยบ่อ

สภาพเป็นหลุมเป็นบ่อของถนนในประเทศไทยนั้น เป็นเพียงแค่ผลของการคอร์รัปชั่นในหมู่นักการเมือง ข้าราชการเท่านั้นหรือ บทความชิ้นนี้พยายามตั้งคำถามถึงสภาพการเป็นหลุมเป็นบ่อของถนนที่มีนัยแฝงของการจัดระเบียบทางสังคม รวมถึงการขัดเกลาทางสังคมอีกด้วย



นัยแห่งการจัดระเบียบทางสังคมที่ซ่อนอยู่ภายใต้กลยุทธ์ซ่อมถนนยางมะตอยบ่อย ๆ ของภาครัฐ

 

ผู้เขียน: ปรีชภักดิ์ ทีคาสุข (นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

 

ระหว่างที่ชายคนหนึ่ง กำลังบังคับพวงมาลัยเพื่อขับรถผ่านทุ่งหญ้าที่เขียวขจีไปในทางหลวงเส้นใหญ่ที่เชื่อมระหว่างภาคเหนือและภาคกลางของรัฐแห่งหนึ่งเข้าหากัน (ซึ่งหากใครจะนิยามหรือบอกว่าชายผู้นั้นที่ถูกกล่าวถึง คือผู้เขียนเองก็คงไม่ผิด) อย่างสบายอกสบายใจ พร้อมเปิดวิทยุฟังข่าวที่รัฐบาลพยายามจะนำนโยบายการใช้ยานยนต์แบบญี่ปุ่น กล่าวคือ นโยบายที่ว่าด้วยการกำหนดและจำกัดอายุการใช้งานของยานยนต์ให้ไม่เกิน 10 ปี หากจะนำมาขับขี่ภายในเมือง… ทันใดนั้นรถสีขาวครีมคันเล็กที่กำลังแล่นตามมาด้วยความเร็วพอประมาณที่แสดงออกถึงท่าทีในการจะเบี่ยงรถออกเพื่อที่จะแซงไปข้างหน้า ก็สะดุดเข้ากับบางสิ่งบางอย่างบนพื้นถนนหลวงสายนั้น จนเกิดเสียงดังครืน ทำให้ชายผู้นั้นต้องละสายหู (เนื่องจากไม่สามารถละสายตาจากเพลงได้) และหันหน้าไปที่กระจกรถ เพื่อเบนความสนใจไปหาที่มาของเสียงนั้น…

ใช่แล้ว… รถคันที่กำลังจะแซงขึ้นไปได้สะดุดเข้ากับหลุมร่องแห่งความชำรุดของ “ถนนลาดยางมะตอย” นั้นเอง ผู้เขียนลองเก็บเหตุการณ์ดังกล่าวมาขบคิดดูในยามว่าง เนื่องจากเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวเป็นประเด็นที่ได้รับการกล่าวถึงและวิพากษ์วิจารณ์ภายในโลกโซเชียลมีเดีย หรือในพื้นที่สื่อมานานหลายปี โดยเฉพาะในประเด็นที่คาบเกี่ยวกับเรื่องของการโกงและการคอรัปชั่น ดังจะเห็นได้จากคำโปรยที่ว่า “กินหิน กินปูน กินถนน” ซึ่งล้วนเชื่อมโยงไปถึงภาพลักษณ์ในด้านลบของผู้ที่ทำหน้าที่เป็นรัฐบาลทั้งสิ้น

อย่างไรก็ดี ผู้เขียนลองพยายามคิด และวิเคราะห์เล่น ๆ ถึงข้อดี หรือ ประโยชน์ของพฤติการณ์ดังที่กล่าวถึงเหล่านี้ในมุมที่ตรงกันข้าม ผู้เขียนพบว่า บางทีปรากฏการณ์ถนนหลุมบ่อ ที่เกิดขึ้นบนถนนยางมะตอยของรัฐ ๆ หนึ่งนั้น บางครั้งอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นโดยมีสาเหตุอยู่บนฐานของการโกงกิน คอรัปชั่น หรือ สูบผลประโยชน์ส่วนต่างในราคาอย่างที่หลาย ๆ ข้อครหาได้ปะทุขึ้นเสียทีเดียว หากแต่ในทางกลับกันมันอาจเป็นแผนการจัดระเบียบทางสังคมแผนหนึ่งที่รัฐได้พยายามวางเอาไว้ตั้งแต่ต้น เพราะหากเรา ๆ ผู้ใช้ถนน และผู้ขับขี่ทั้งหลายตระหนักได้

เมื่อรถยนต์ หรือ ยานพาหนะที่สัญจรผ่านบริเวณที่เป็นถนนลาดยางมะตอย นั่นหมายความว่า ถึงเวลาที่พวกเขาทั้งหลายจะต้องคำนึงถึง ความไม่ปลอดภัย หรือความไม่สมบูรณ์แบบและความไม่คงเส้นคงวาของสุขภาพถนน หรือ เส้นทางนั้น ๆ (ซึ่งความจริงแล้ว ถนนลาดยางมะตอยนั้นยังคงถูกใช้เป็นถนนหลวงที่ตัดผ่านและเชื่อมต่อพื้นที่มากกว่า 50% ภายในรัฐเข้าด้วยกัน)  ทำให้ผู้ขับขี่เหล่านั้นจำต้องชะลอ หรือ ทำการขับขี่ด้วยความเร็วที่ลดลงในระดับหนึ่ง เพื่อให้พฤติกรรมเหล่านั้นเป็นหลักประกันให้เกิดความมั่นใจแก่สวัสดิภาพของรถยนต์ หรือยานพาหนะของตนเอง ไม่ให้เกิดการชำรุด หรือ เสียหายขึ้นมา จึงอาจทำให้มีแนวโน้มที่จะเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนที่มาจากสาเหตุการขับขี่เกินอัตราความเร็วที่กำหนดได้น้อยลง (แม้จะยังไม่มีการศึกษาเรื่องเหล่านี้ออกมาเป็นข้อมูลเชิงสถิติอย่างจริงจังก็ตาม) เพราะ แม้ว่าผู้ขับขี่บางรายจนถึงหลาย ๆ รายอาจจะไม่รักในชีวิตหรือความปลอดภัยของตนเอง แต่ความเป็นไปได้หนึ่งก็คือ ผู้ขับขี่เหล่านั้นมักจะมีความเป็นไปได้ที่จะห่วงใยในสวัสดิภาพของยานพาหนะ ที่เป็นสินทรัพย์ส่วนตัว (private property) ของตนเอง ในสำนึกการขับเคลื่อนชีวิตแบบทุนนิยม อันด้วยเหตุผลนานัปการ (อาทิ ยังจ่ายค่างวดไม่ครบ รถของทางองค์กร หรือซื้อหามาในราคาที่สูงและยากลำบากต่อการเก็บออมเงิน จึงควรค่าแก่การรักษาไว้)

และนอกจากนี้รถหรือยานพาหนะที่สัญจรผ่านเข้าไปภายในอาณาบริเวณของการปรากฏกายของถนนแห่งความไม่คงเส้นคงวาเหล่านั้น ในระยะยาวจึงมีโอกาสที่ยานยนต์เหล่านั้นจะสึกหรอเร็วกว่าที่ควร หรือ มีอายุการใช้งานที่สั้นลงมาก ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อผู้ใช้และผู้ขับขี่อย่างแน่นอนไม่ว่าจะในทางใด เมื่อเป็นเช่นนั้น หากในอนาคต หรือ เวลาอันใกล้ รัฐดังกล่าวมีปริมาณของรถที่มีความสึกหรอ หรือ รถที่มีความเสี่ยงในอัตราการชำรุดที่สูงขึ้น มันช่างสอดรับกับนโยบายการจำกัดอายุการใช้งานการขับขี่ยานพาหนะที่ฟังมาจากวิทยุเสียอย่างเหมาะเจาะ ลักษณาการดังกล่าวนี้จึงอาจเป็นแผนการอันซับซ้อนของรัฐเพื่อทำการจัดระเบียบทางสังคมของผู้ใช้รถใช้ถนนภายในรัฐก็เป็นไปได้ (ในมุมหนึ่งจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะกล่าวว่ารัฐแห่งนี้เองก็มีความเป็นแมคเคียเวลเลี่ยน อยู่ไม่น้อยเช่นกัน)

ความขรุขระของถนน ความเป็นหลุม เป็นบ่อ และการชำรุดลงของถนนยางมะตอยที่เกิดขึ้นในเวลาหลาย ๆ ครั้งในห้วงปีนั้น จึงอาจมิใช่เหตุผลที่เกิดจากพฤติกรรมการคอรัปชั่นเสียทีเดียวอย่างที่หลาย ๆ คนเคยเข้าใจ หากแต่มันอาจเป็นการวางแผนอย่างแยบยลเพื่อพยายามทำการจัดระเบียบทางสังคม (social ordering) และการขัดเกลาทางสังคม (socialization) ชุดหนึ่งที่รัฐกำลังเลือกใช้และนำมาบริหารจัดการผู้ขับขี่ยานพาหนะบนท้องถนน และตอบสนองรองรับกับการที่นโยบายจำกัดอายุการใช้งานของยานพาหนะที่รัฐกำลังจะนำมาบังคับใช้ในอนาคตได้อีกด้วย โดยความชำรุดสึกหรอที่เกิดขึ้นกับยานพาหนะเหล่านั้นจะกลายเป็นหลักประกันสำคัญ หรือ ฐานของเหตุผลสำคัญในการที่รัฐจะนำมาอ้างถึงความจำเป็นในนโยบายดังกล่าวนี้ พร้อม ๆ ไปกับการปล่อยให้ผู้คนหรือผู้ขับขี่ยานพาหนะบนท้องถนนเหล่านั้นยังคงเชื่อต่อไปว่า การชำรุดของถนนยางมะตอยเป็นเพียงสาเหตุมาจากการคอรัปชั่นเล็ก ๆ น้อย ๆ อันเป็นเหตุการณ์ปกติของรัฐแห่งนี้สืบต่อไป

_____________________________________________________________________________________

สัมภาษณ์ผู้เขียน

แนะนำตัว

ปรีชภักดิ์ ทีคาสุข อยู่ชั้นปีที่ 4 ภาควิชาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์

ทำไมถึงมาเลือกเรียนวิชาโท ที่ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา

เหตุผลหลัก ๆ คือมันท้าทายดี โดยปกติแล้วคณะรัฐศาสตร์จะมีวิชาบังคับให้ลงเรียนที่ภาควิชานี้ เป็นวิชาความรู้พื้นฐานทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา (159101) ซึ่งผมก็มักจะได้ยินเสียงบ่นว่าวิชานี้ยาก จนเรียนไม่ไหว ถึงกับต้องดร็อป ก็เลยคิดจะมาเรียนเพื่อพิสูจน์ดูว่ามันจะยากอย่างที่คนอื่น ๆ บอกจริงหรือเปล่า ซึ่งก็พบว่ามันไม่ได้ยากเลย

แล้วเท่าที่เรียนมา ชอบวิชาไหนของภาควิชามากที่สุด

ทฤษฎีสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาร่วสมัย (159401) เพราะวิชานี้เป็นวิชาที่เข้าใจง่าย อาจารย์อธิบายได้ดี เพียงแค่ฟังก็สามารถเข้าใจแนวคิดเหล่านั้นได้แล้ว ซึ่งคิดว่ามันไม่ได้ยากอย่างที่หลาย ๆ คนบอกไว้

คิดว่าการมาเรียนวิชาโทที่นี่นั้น ได้อะไรกลับไปใช้ในการเรียนของคณะตัวเองบ้าง

ส่วนใหญ่ก็จะได้วิธีคิดที่ไม่ค่อยพบเจอในการเรียนรัฐศาสตร์ ทำให้สามารถเอาไปประยุกต์ใช้ในการวิจัยได้ แต่ก็จะทำให้ลำบากเวลานำเสนองานทางรัฐศาสตร์ เนื่องจากการผสมผสานระหว่างวิธีคิดแบบสังคมวิทยากับการระหว่างประเทศยังไม่ค่อยมีในไทยเท่าไหร่ แล้วนักศึกษารัฐศาสตร์ก็จะไม่คุ้นเคย ซึ่งในความเป็นจริงวิธีคิดแบบนี้มีมานานแล้วในโลกตะวันตก
 

________________________________________________________________________

บรรณาธิการ: พงศ์ภรณ์ พงษ์พันธุ์ (นักศึกษาชั้นปีที่ 2 ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)  

พิสูจน์อักษร: สิรินธร์ อมรศรีสัจจะ  (นักศึกษาชั้นปีที่ 2 ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

***บทความโดยนักศึกษา มีจุดประสงค์ในการให้นักศึกษาได้แสดงผลงานเขียน โดยการใช้ความรู้ความเข้าใจทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยามาวิเคราะห์ และวิพากษณ์วิจารณ์อย่างมีความเป็นวิชาการ***

ขอบคุณภาพประกอบจาก: http://teakdoor.com