กิจกรรม
\"จากไทยสู่ญี่ปุ่น\" สัมภาษณ์ศิษย์เก่า: พี่โอ๋ จารุวรรณ หัตถผสุ
บทสัมภาษณ์ศิษย์เก่าภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา พี่โอ๋ จารุวรรณ หัตถผสุ (รหัส 54) ผู้ได้รับทุนไปศึกษาต่อที่ประเทศญี่ปุ่น พี่โอ๋จะมาเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มช. รวมถึงประสบการณ์เรีนต่อต่างประเทศ
"บทสัมภาษณ์ศิษย์เก่าภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา พี่โอ๋ จารุวรรณ หัตถผสุ (รหัส 54) ผู้ได้รับทุนไปศึกษาต่อที่ประเทศญี่ปุ่น พี่โอ๋จะมาเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มช. รวมถึงประสบการณ์เรีนต่อต่างประเทศ"
สัมภาษณ์โดย: รวิโรจน์ ไทรงาม (นักศึกษาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)
แนะนำตัว
พี่โอ๋ จารุวรรณ หัตถผสุ รหัส 54 สาขาวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันศึกษาเรื่องการจัดการทรัพยากรทางวัฒนธรรมที่มหาวิทยาลัยคานาซาว่า ประเทศญี่ปุ่น
เหตุผลที่พี่โอ๋มาเรียนสาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มช. ?
อันที่จริงพี่อยากเรียนสาขาจิตวิทยาและพี่เคยดรอปเรียนมา 1 ปี ซึ่งพี่จำเป็นต้องสมัครผ่านระบบแอดมิชชั่นเท่านั้น และช่วงนั้นพี่มีคะแนนที่ใช้ยื่นสมัครแอดมิชชั่น ซึ่งมันใช้ได้ 2 ปี ตอนที่ยื่นสมัครแอดมิชชั่นพี่เลือกสาขาจิตวิทยาอันดับหนึ่ง อันดับสองเป็นสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา พี่ได้อันดับสอง คือพี่ไม่ได้ตั้งใจมาเรียน พี่อยากเรียนจิตวิทยามากกว่า
หลังจากเข้ามาเรียนแล้ว พี่โอ๋มีความประทับใจอะไรบ้างเกี่ยวกับภาควิชา ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์ วิชา ฯลฯ ? ที่จะเล่าและแบ่งปันประสบการณ์ให้ผู้ที่สนใจในสาขาวิชาบ้าง ?
สำหรับพี่ความประทับใจจะอยู่ในช่วงปี 3 ถึงปี 4 สิ่งที่พี่ประทับใจในตัวของวิชาหรือองค์ที่แตกต่างจากสังคมศึกษาตอนม.ปลาย การที่เรามาเรียนตรงนี้มันเป็นอีกหนึ่งไอเดียหรือเป็นอีกหนึ่งวิธีคิด เปรียบได้กับแว่นอีกกรอบหนึ่งให้เรามองสังคมแล้วก็อธิบายที่ต่างจากแบบเดิม
พี่ชอบวิชาอำนาจ เรียนกับอาจารย์เก่งกิจ ปกติวิชาอื่นที่เราเรียนแล้วก็อ่านหนังสือ เพื่อจะไปสอบ แต่พี่เรียนวิชานี้แล้วพี่รู้สึกอยากที่จะเรียนรู้กับมัน เป็นการเปิดมุมมองในการมองโลกอีกแบบที่ไม่รู้ว่ามันมีแบบนี้ด้วย พี่ว่ามันเป็นเสน่ห์ของสาขาวิชา พี่ประทับใจอาจารย์หลายท่าน อย่างอาจารย์อรัญญา อาจารย์เก่งกิจ อาจารย์ไพโรจน์ หรืออาจารย์นันทวัฒน์ อาจารย์แต่ละท่านพี่ก็ประทับใจแตกต่างกันไป เช่น อาจารย์เก่งกิจ อาจารย์อาจจะดูเป็นคนแรง ๆ แต่ช่วยเปิดมุมมองโลกที่ต่างออกไป ถ้าเป็นอาจารย์ไพโรจน์ พี่ชอบวิชาโลกาภิวัตน์ ได้เห็นมุมมองใหม่ ๆ รู้ว่าโลกาภิวัตน์มีผลต่อชีวิตเราอย่างไงบ้าง
หลังจากเรียนจบแล้ว พี่โอ๋วางแผนเกี่ยวกับตนเองว่าอย่างไรบ้าง ?
หลังจากที่พี่เรียนจบแล้ว พี่ก็ไปอยู่ประเทศญี่ปุ่นเลย ซึ่งมันเป็นอะไรที่ค่อนข้างยาก และพี่ต้องเรียนรู้การใช้ชีวิต วัฒนธรรมของคนญี่ปุ่นใหม่ เช่น การทิ้งขยะที่จะต้องทิ้งให้ถูกวันตามที่กำหนด วัฒนธรรมการทำงานของคนญี่ปุ่น ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นระเบียบและเคร่งเครียดมากจริง ๆ เขาเป็นสังคมที่ค่อนข้างเน้นงาน เราได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง ตั้งแต่การทำงาน การใช้ชีวิต ถ้าถามว่ารู้สึกอย่างไรบ้าง พี่รู้สึกว่าทำไมเขาเคร่งเครียดจัง ซึ่งต่างจากประเทศไทย
อยากให้พี่โอ๋ช่วยเล่าเรื่องราว และแบ่งปันประสบการณ์ตลอดช่วง 4 ปีของการเป็นนักศึกษาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มช. ให้ผู้ที่สนใจและน้อง ๆ
ตลอด 4 ปีที่ผ่านมาพี่รู้สึกว่า สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มันไม่ใช่วิชาเชิงวิชาชีพ มันออกแนวแบบความรู้เป็นทฤษฎี ซึ่งเป็นกรอบคิดให้เรา เพื่อเราจะสามารถมองโลกอีกแบบ เราไม่ได้มองโลกจากสามัญสำนึก ทำให้เราอธิบายโลกผ่านองค์ความรู้ที่ถูกพิสูจน์มาแล้ว พี่เชื่อว่าหลาย ๆ คนอาจจะไม่ได้ตั้งใจมาเรียน แต่พอมาเรียนแล้ว เราได้อะไรมากมาย ถ้าใจเราเปิดรับสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ซึ่งได้นำเสนอวิธีคิดหลายแบบที่แตกต่างออกไป เราจะได้เห็นสังคมอีกแง่มุมหนึ่งที่เราไม่เคยรู้มาก่อน
สุดท้ายก็อยากจะให้พี่โอ๋ฝากอะไรถึงน้อง ๆ สักเล็กน้อยเป็นการส่งท้าย
ถึงน้อง ๆ ที่เรียน พี่อยากจะให้ตั้งใจเรียน คือสำหรับพี่ การที่เราตั้งใจเรียนในห้องเรียน เก็บในห้องเรียนให้มากที่สุด พยายามทบทวนเนื้อหาที่เรียนอยู่เสมอ ช่วงแรกมันก็คงยาก แต่ถ้าเราไม่อยากเครียดตอนใกล้สอบ ก็ตั้งใจเรียนให้มากที่สุด
สำหรับน้องที่อยากเข้ามาเรียนสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา อาจจะเป็นภาควิชาที่บางครั้งเรารู้สึกว่ามันเรียนอะไร เราไม่รู้และไม่เข้าใจ แต่พอพี่ขึ้นปี 3-4 เราจะเห็นภาพว่า สิ่งที่เราเรียนคือ การทำความเข้าใจสังคม พี่คิดว่าถ้าน้องยังไม่รู้จะเรียนอะไร ลองรับสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาเป็นตัวพิจารณา ถ้าเราเปิดใจรับและเรียนรู้กับมันไปเรื่อย ๆ เราจะเห็นโลกอีกมุมหนึ่ง ซึ่งพี่รู้คิดว่าเป็นอะไรที่ตื่นเต้น มีเสน่ห์ของมัน
รูปภาพเพิ่มเติม