กิจกรรม
เมื่อวิทยาศาสตร์ไม่มีคำตอบ: ปรากฏการณ์ลูกเทพกับมุมมองทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
ปรากฏการณ์ลูกเทพ ที่ผู้คนหันมานิยมบูชาตุ๊กตา เลี้ยงดูราวกับว่าวัตถุเหล่านั้นเป็นสิ่งมีชีวิต ปรากฏการณ์นี้เป็นปรากฏการณ์ใหม่หรือเปล่า ? บทสัมภาษณ์ ผศ.ดร.อภิญญา เฟื่องฟูสกุล อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้เชี่ยวชาญประเด็นสังคมที่เกี่ยวกับความเชื่อและศาสนา จะมาอธิบายถึงปรากฏการณ์ลูกเทพจากมุมมองทางวิชาการ
ผศ.ดร.อภิญญา เฟื่องฟูสกุล
อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
สนใจและเชี่ยวชาญมานุษยวิทยาศาสนา พื้นที่ และอัตลักษณ์
สามารถดูข้อมูลเกี่ยวผลงานทางวิชาการได้ที่นี่
สัมภาษณ์โดย: รวิโรจน์ ไทรงาม, สิรินธร์ อมรศรีสัจจะ (นักศึกษาภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา)
ในช่วงสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมามีปรากฏการณ์ลูกเทพในสังคมไทย ซึ่งมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย อาจารย์อภิญญามีความเห็นอย่างไรบ้างจากปรากฏการณ์ดังกล่าว ?
ย้อนกลับไปสัก 6-7 ปีก่อนที่เกิดปรากฏการณ์จตุคามรามเทพ ซึ่งเป็นกระแสโด่งดันและมีการปั่นราคาให้สูงมากถึงหลักล้านบาท แต่ปัจจุบันจตุคามรามเทพไม่มีราคาอีกแล้ว ตุ๊กตาลูกเทพก็เหมือนของเล่นชิ้นใหม่ และการเกิดเป็นข่าวได้เพราะมีคนด่า ตั้งแต่ Thai Smile Airways ให้นำขึ้นเครื่องบินได้ มันถึงทำให้เป็นข่าวรวมทั้งภาคธุรกิจที่มาตามกระแส ซึ่งเป็นกระบวนการทำให้เป็นสินค้ามันเข้มข้นขึ้น อย่างไรก็ตามในวงการที่นิยมตุ๊กตา เขาก็เล่นของเขาอยู่ในวงการมาตั้งนาน แต่ว่าคนวงกว้างอาจจะไม่รู้เท่านั้นเอง
ตุ๊กตาลูกเทพก็มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ผู้ที่ไม่เห็นด้วยเขาใช้มุมมองแบบพุทธเหตุผลนิยม ความมีเหตุผล เขาด่านักบวช ปลุกเสก เมื่อเกิดกระแสดังกล่าวคนที่เลี้ยงตุ๊กตาลูกเทพในจังหวัดนครปฐมที่คนเอาตุ๊กตาไปทิ้ง เนื่องจากกระแสสังคม แต่กระแสดังกล่าวไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในสังคมไทยเท่านั้น ในสังคมที่พัฒนาแล้วอย่าง โตเกียว นิวยอร์ก ลอนดอน ปรากฏการณ์คล้าย ๆ แบบนี้ก็มี ในปรากฏการณ์โลกาภิวัฒน์ สิ่งที่เราเห็นอยู่ควบคู่กันไปอย่างเช่นอย่างเข้มข้น คือ ด้านหนึ่งเหตุผลนิยม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและอีกด้านคือไสยศาสตร์ ผีสาง นางไม้ เราพบว่า ยิ่งวิทยาศาสตร์มีความก้าวหน้าไปไกลมากแค่ไหน ในอีกด้านหนึ่งกลับพบการฟื้นคืนชีพใหม่ของกระแสศรัทธาปาฏิหาริย์ ทั้งนี้วิทยาศาสตร์และไสยศาสตร์ มันมีทั้งส่งเสริมและขัดแย้งกันและกัน อย่างเช่น การนำวิทยาศาสตร์มาอธิบายไสยศาสตร์ในพระเครื่องของบรรดาเซียนพระเครื่อง เป็นต้น
หลังจากพูดถึงไสยศาสตร์กับวิทยาศาสตร์แล้ว คำถามคือว่าเมื่อไสยศาสตร์สามารถอธิบายได้แล้ว มันก็จะกลายเป็นวิทยาศาสตร์หรือไม่ ?
ใช่ ๆ ตราบใดที่มันอธิบายได้แล้วมันก็จะเป็นวิทยาศาสตร์ ตราบใดที่ยังอธิบายไม่ได้ก็ยังไม่ใช่วิทยาศาสตร์ เพราะฉะนั้นเส้นแบ่งที่แบ่งตรงนี้มันจึงเลื่อนไหลได้เสมอ ถ้ามองจากแง่สังคมวิทยา มานุษยวิทยา จะบอกว่า ในโลกปัจจุบันนั้น 2 กระแสมันควบคู่กันอยู่ นี่คือปรากฏการณ์ทางสังคม คำถามต่อมาคือ ทำไมไสยศาสตร์จึงยังไม่หายไป ? ก็เป็นเพราะว่าวิทยาศาสตร์เองมันไม่สามารถตอบคำถาม มันไม่สามารถเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไปในชีวิตของคนได้ ผลต่อประสบการณ์ของคนมันหายไป มันไม่รู้ว่าฉันอยู่ที่ไหน การต่างคนต่างอยู่ ความเงียบเหงา ความเคว้งคว้าง มีอยู่สูงมากในสังคมสมัยใหม่ นี่คือสิ่งที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไม่สามารถจะตอบสนองคุณได้ คนเราหันมาบริโภคนิยมหรือไม่ก็หันไปพึ่งไสยศาสตร์ ก็เพราะมีช่องว่างที่วิทยาศาสตร์เติมไม่เต็ม
สำหรับผู้ที่หันมาเล่นตุ๊กตาลูกเทพนั้นไม่ใช่แค่ความเหงาเพียงอย่างเดียว บางครั้งเป็นกลุ่มคนชายขอบของสังคม เช่น แม่ลูกที่มีปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัวที่บางครั้งลูกเขาไม่เป็นไปดังหวัง หรือผู้หญิงรักหญิงที่อยากมีลูก และยังมีผู้หญิงที่ทำแท้ง ผู้ซึ่งถูกตีตราบาปจากสังคมและความรู้สึกผิดก็เยอะ ไม่มีทางออก แต่ตุ๊กตาลูกเทพกับผีกุมารมันคือทางออกของเขา ในรายการโทรทัศน์อย่าง คนอวดผี ถ้าสังเกตจะพบว่าร้อยละ 90 ของแขกที่รับเชิญมา คือผู้หญิงที่เคยทำแท้ง รายการดังกล่าวเปรียบเสมือนเวทีสารภาพบาป เป็นการได้รับการให้อภัยจากผี และจากคนดู เพื่อปลดเปลื้องตราบาปของตัวเองอย่างน้อยก็ส่วนใหญ่ ดังนั้นแนวคิดของรายการก็คือ กระบวนการทำให้ผีกุมารกลายเป็นสินค้า เมื่อมองในแง่สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มันมีหน้าที่ทางสังคมกับหน้าที่ทางจิตวิทยา ซึ่งรัฐบาล หรือเอ็นจีโอก็ช่วยผู้หญิงพวกนี้ไม่ได้
"ทำไม ไสยศาสตร์จึงยังไม่หายไป ? ก็เป็นเพราะว่าวิทยาศาสตร์เองมันไม่สามารถตอบคำถาม มันไม่สามารถเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไปในชีวิตของคนได้"
ปรากฏการณ์ของลูกเทพก็คือการเปลี่ยนผ่านจากกุมารทองมาเป็นลูกเทพอย่างนั้นหรือ ?
คุณอย่าลืมสิว่า อย่างในรายการคนอวดผีก็เป็นผีกุมาร ในสังคมบริโภคนิยมคนมีความฝัน มีความหวัง มีจินตนาการ บริโภคนิยมมันเก่งมากในการที่จะตอบสนองต่อความต้องการ และแปรรูปความฝันความหวังนั้นใหม่ ซึ่งกฎอันหนึ่งของบริโภคนิยมคือ คุณจะต้องตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้หลากหลายที่สุด
ในเมื่อตุ๊กตาผีแบบเดิม ๆ ก็คือเด็กหัวจุกนุ่งโจงกระเบน แต่ตุ๊กตาถูกทำให้ใกล้เคียงกับชีวิตจริง ไม่ต่างจากความฝันตอนเด็ก ๆ เราเล่นตุ๊กตาเราก็อยากเปลี่ยนเสื้อ แล้วก็มีชุดของเล่น อย่างบาร์บี้ ประเด็นสำคัญคือความคล้ายคลึงกับชีวิตจริง แต่อีกด้านหนึ่งแสดงนัยตรงกันข้ามของตุ๊กตาและชีวิตจริง ก็คือ ตุ๊กตาไม่โต ไม่แก่ ไม่ตาย ตุ๊กตาเป็นอมตะ หรือที่เรียกว่าข้ามพ้นกาลเวลา (go beyond time) หมายความว่าตุ๊กตาก้าวข้ามพ้นขีดจำกัดของเวลาในพัฒนาการชีวิตของมนุษย์ที่ต้องเกิดแก่เจ็บตาย
"กฎอันหนึ่งของบริโภคนิยมคือ คุณจะต้องตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้หลากหลายที่สุด"
ตุ๊กตาส่วนมากราคาอยู่ในระดับไหนบ้าง ?
ตุ๊กตามันมีราคาให้เลือกตั้งแต่ราคาพันกว่าบาทอยู่ที่ว่าคุณจะลงทุนกับตุ๊กตามากน้อยแค่ไหน ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าคุณมีเงินเท่าไหร่ บริโภคนิยมเปิดโอกาสให้คุณได้เลือก แล้วบริษัทห้างร้านหัวใสก็รีบอ้าแขนต้อนรับเพราะมันได้ลูกค้า ซื้อที่นั่งสองที่นั่งบนเครื่องบิน ใส ๆ หวาน ๆ อยู่แล้ว
ในโลกบริโภคนิยมปัจจุบันนี้ การบริโภคนิยมมันแทรกซึมเข้าไปในทุกส่วนของสังคม อย่างเช่น สลัมที่ยากจนที่สุดในประเทศพม่า ที่เบียดกันอยู่ในซอกรูหนู สกปรก แทบไม่มีอะไรเลย อัดกันอยู่นั่น แต่สิ่งหนึ่งที่พวกเขามีคือ โทรศัพท์มือถือ ซึ่งกำลังจะบอกว่าบริโภคนิยมนั้นก้าวข้ามชนชั้นไปไหนถึงไหนแล้ว
แล้วอย่างในกรณีของลูกเทพไม่ได้มองถึงภาพรวมทั้งหมด มันมีแค่ชนชั้นกลางหรือเปล่าที่สนใจตุ๊กตาลูกเทพ แล้วคนชนชั้นล่าง ๆ เลยเขาสนใจแบบนี้หรือว่าเขาก็มีกุมารของเขาอยู่แล้ว ?
ในส่วนนี้ต้องมีการลงสำรวจ เพราะตอนนี้ไม่มีงานวิจัยสำรวจ ครูมีลูกศิษย์ที่ทำเรื่องกุมารทอง ครูก็อยากให้เขาไปสำรวจเหมือนกันว่า มีแม่ค้าขายกล้วยปิ้งในตลาด หรือว่าชาวเขาที่ทำอาชีพเป็นแม่บ้านว่ามีไหม ถ้าเจอก็น่าสนใจ แต่ที่แน่ ๆ ก็คือว่าเป็นเฉพาะผีกุมาร เป็นแนวคิดผีเด็กที่อยู่ในสังคมของไทยและก็อาจจะสังคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยที่มีสิ่งนี้คล้าย ๆ กัน ครูทราบว่าคนไทใหญ่เนี่ยเรื่องไสยกับชีวิตประจำวันเขาเนี่ยเป็นอะไรที่เหมือนยาทัมใจ (ยี่ห้อของยาแอสไพรินชนิดผงของประเทศไทย-ผู้สัมภาษณ์) อันนี้แม่บ้านที่เป็นคนไทใหญ่เล่าให้ฟังว่า เวลาปวดนี่สงสัยว่าร้านซักรีดที่ไม่ชอบหน้าเขา เล่นของใส่เขา คือความจริงอาจจะเกิดจากอะไรก็ได้ แต่ความที่ไสยศาสตร์มันอยู่ใกล้ชิดกับชีวิตประจำวันของคนเหล่านี้มาก จนกระทั้งเมื่อเกิดเหตุอะไรที่ผิดปกติ การใช้ไสย มนต์ดำมาอธิบายความผิดปกตินั้นเป็นวิธีการหนึ่งที่จะเป็นตรรกะอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขา
ความผูกผันกับตุ๊กตาลูกเทพแบบนั้นก็คล้าย ๆ กับที่เด็กผูกผันกับของเล่นในชีวิตอย่างนี้ไหม ?
อันนี้เป็นผู้ใหญ่ มันเคยมีนักจิตวิทยา ฌอง ปิอาเช่ต์ เขาบอกว่าจริง ๆ แล้วโลกแห่งจินตนาการหรือ Magic ไม่เคยตายจากจิตใจของคน การ์ตูนวอลท์ ดิสนีย์ (Walt Disney) มันถึงได้อยู่ยงคงกระพัน มันไม่ใช่แค่การ์ตูนแต่มันขยายมาสู่บริโภคนิยมแบบสุดอีกคือดิสนีย์แลนด์ (Disney Land) ซึ่งแต่ก่อนมีเฉพาะในตะวันตก แต่ตอนหลังเข้ามาฮ่องกง โตเกียว หมายความว่าในนั้นไม่มีอะไรที่เป็นจริงเลยแม้แต่อย่างเดียว มันคือความฝัน 100 % แต่มนุษย์ที่โต ๆ แล้วยังอยากสนุก เพราะฉะนั้นในตัวเราส่วนหนึ่งนะ มันมีความโหยหาสิ่งเหล่านี้ โหยหาโลกแฟนตาซี เฉพาะฉะนั้นนอกจากดิสนีย์แลนด์ หนังแนวแฟนตาซีทั้งหลายทั้งปวงหรือนวนิยายแนวแฟนตาซี มันขายได้เพราะมันตอบสนองต่อความต้องการอะไรที่เป็นโลกของเมจิก ความปรารถนาอันล้ำลึกอันนี้ ทุนนิยมบริโภคนิยมกระโดดเข้าไปจับและทำให้มันกลายเป็นสินค้า
แล้วถ้าเป็นกรณีอย่างนี้ของต่างประเทศมีการเลี้ยงตุ๊กตาแบบในเมืองไทยไหม ?
มี และมีเขาทำเป็นงานวิจัยเกี่ยวกับตุ๊กตากระเบื้อง งานวิจัยที่ศึกษาคนสะสมตุ๊กตากระเบื้องในอเมริกา ว่าที่จริงตุ๊กตากระเบื้องไม่ได้มามีตอนศตวรรษที่แล้ว แต่มีมาตั้งแต่ศตวรรษที่18-19 แต่งตัวสวย ๆ ซึ่งมันก็มีมาเรื่อย ๆ แล้วก็มาได้รับความนิยมในช่วงหลังสงครามโลกช่วงกลางศตวรรษที่แล้ว เขาก็ไปศึกษาเชิงลึกของชีวิตของคนที่เลี้ยงตุ๊กตาแบบทำทุกอย่างราวกับตุ๊กตามีชีวิต แล้วศึกษาว่าความสัมพันธ์กับตุ๊กตามีผลอย่างไรกับอัตลักษณ์ของเจ้าของรวมทั้งมีผลต่อความสัมพันธ์กับคนรอบข้างอย่างไร
ขอขอบคุณอาจารย์อภิญญาเป็นอย่างสูง ที่สละเวลามาให้สัมภาษณ์กับทางกองบรรณาธิการ
ขอบคุณรูปประกอบจาก: http://www.oknation.net/blog/Watchara-Takum