กิจกรรม

SocAnp NEWS

สรุปงานเสวนา \"จับกระแสสังคมศาสตร์: 50 ปี สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาเชียงใหม่\"

เมื่อวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2558 ที่ผ่านมา ในวาระครบรอบ 50 ปีของภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีการจัดงานเสวนาภายใต้ชื่อ“จับกระแสสังคมศาสตร์: 50 ปี สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาเชียงใหม่”  โดยมีวิทยากรระดับเพชรในวงการสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ 4 ท่านด้วยกันคือ ศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์, ศ.ดร.ยศ สันตสมบัติ, ศ.ดร.อรรถจักร สัตยานุรักษ์ และศ.ดร.สุวรรณา สถาอานันท์



งานเริ่มต้นด้วยการเปิดตัวหนังสือรวมบทความ “จับกระแสสังคมศาสตร์ : รวมบทความวิชาการ 50 ปี สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา เชียงใหม่” โดยรศ.ดร.วัฒนา สุกัณศีล และอาจารย์นันทวัฒน์ ฉัตรอุทัย โดยอาจารย์วัฒนากล่าวถึงเอกลักษณ์ของหนังสือเล่มนี้อย่างรวบยอดเป็นคำขวัญว่า “50:50:50:50” 50 แรก แทนชื่อหนังสือ, 50 ต่อมา แทนจำนวนผู้เขียน 10 คน คิดเป็น  50% ของคณาจารย์ทั้งหมดในภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา, 50 ที่สาม แทนอัตราส่วนระหว่างบทความทางวิชาการ และบทความวิจัยคือ 50:50 และ 50 สุดท้าย คือค่าเฉลี่ยอายุของเหล่าคณาจารย์ในภาควิชา นอกจากนี้ อาจารย์วัฒนายังใช้เลข “50” ในการเชื่อมโยงกับสถิติอื่น ๆ ที่เป็นปรากฏการณ์ในสาขาวิชานี้นับจากอดีตมาจนถึงปัจจุบันร่วม 50 ปี เพื่อเป็นกรอบการมองให้เห็นภาพสังคมศาสตร์ในอีก 50 ปีข้างหน้า  

 

จากนั้น ผศ.ดร.วสันต์ ปัญญาแก้ว อาจารย์ในภาควิชาที่เป็นบัณฑิตจากสาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาแห่งนี้ ได้แนะนำวิทยากร 2 ท่านแรกคือ ศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ และ ศ.ดร.ยศ สันตสมบัติ ซึ่งทั้งคู่มีส่วนสำคัญในการสถาปนาให้สาขาวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา เชียงใหม่ ถูกขนานนามจากวงวิชาการว่า “สำนักเชียงใหม่”  ด้วยการทำงานทางวิชาการที่เชื่อมโยงกับประเด็นปัญหาของสังคม โดยเฉพาะในประเด็นเรื่อง  ดิน น้ำ ป่า, ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ตลอดจนประเด็นข้ามรัฐชาติ  

ความรู้ของสังคมศาสตร์สู่อำนาจของชาวบ้าน

ศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ เริ่มบทด้วยการย้อนเส้นทางการเป็นนักวิชาการของตน ที่เริ่มต้นไปเรียนต่างประเทศด้านประวัติศาสตร์ และต่อยอดด้วยศาสตร์ทางมานุษยวิทยา การเรียนในต่างแดนสมัยนั้นเต็มไปด้วยความยากลำบาก “ต้องกัดฟันอ่านหนังสือทั้งน้ำตา...ข้างนอกห้องหิมะขาวโพลน นักศึกษากลับบ้านกันเกือบหมด...มันรู้สึกหดหู่ ห่อเหี่ยวอย่างมาก” ทำให้สรุปบทเรียนตอนนั้น และมุ่งมองไปข้างหน้าว่า “เรียนจบมามันยากลำบาก ต้องใช้ให้คุ้ม” และการทำงานในสายวิชาการเริ่มต้นจากการขึ้นมาสอนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ “มาทำงาน มช. ไม่กี่วัน ก็เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เลย…รายล้อมด้วยบรรยากาศ ความขัดแย้ง มีขบวนการชาวไร่ชาวนา”

ในฐานะนักวิชาการ อาจารย์อานันท์เริ่มต้นด้วยความไม่พอใจการสรุปเหมารวมว่า “สังคมไทยเป็นสังคมโครงสร้างหลวม” เนื่องจากสังคมศาสตร์ในยุคนั้นยังอธิบายสังคมโดยการประมวล สรุป และพรรณนาจากข้อมูลพื้นฐานเท่านั้น โดยไม่ได้สอดรับกับปรากฏการณ์ทางสังคมที่เปลี่ยนแปลง อาจารย์อานันท์รู้สึกไม่พอใจจนเกิดความคิดที่ว่า “คิดผิดหรือเปล่าที่จะเป็นนักสังคมศาสตร์แบบนี้ มันไม่เข้ากับความเป็นจริงของสังคม”

ด้วยเหตุนี้ อาจารย์อานันท์จึงพยายามเป็นนักวิชาการ และทำงานด้านสังคมศาสตร์ที่พยายามขับเคลื่อนสังคมศาสตร์ให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม มากกว่าแค่เข้าใจความเป็นไปของสังคม

“...สิ่งที่สำคัญของการทำงานด้านสังคมศาสตร์คือ การผลักดันให้ก้าวข้ามปัญหา ต้องสร้างพลัง และให้อะไรกับสังคม...ที่ผมทำมาตลอดคือ ทำยังไงจะมีส่วนในการเข้าใจความจริงทางสังคม...ถ้าไม่เข้าใจความจริงทางสังคม อย่าทำดีกว่า”  

ตัวอย่างการพยายามเข้าใจความจริงทางสังคมของอาจารย์อานันท์คือ การยกระดับความรู้ท้องถิ่นเรื่อง “สิทธิหน้าหมู่” ให้เป็นความรู้สากล

“...ความรู้เรื่องสิทธิหน้าหมู่ มันเป็นของชาวบ้าน ก็ทำให้เป็นความรู้สากล  ถ้าติดแค่เป็นวัฒนธรรมของท้องถิ่น มันก็ไม่มีพลังขับเคลื่อนอะไรมาก…การทำให้เป็นสากลมันมีพลังขับเคลื่อนสูงขึ้น” ด้วยวิธีคิดเช่นนี้จากเรื่องสิทธิหน้าหมู่จึงถูกยกระดับให้กลายเป็นเรื่องสิทธิชุมชน

อาจารย์อานันท์ยังกล่าวถึงเรื่องความคิดเชิงซ้อนว่า “ความคิดเชิงช้อน มันมาจากเพื่อนบ้านของผม เขามาเก็บไข่มดแดงที่ต้นมะม่วงเรา...เราก็สงสัยว่าบ้านเรา ต้นมะม่วงเรา มาเก็บได้ไง หลายครั้งด้วย จนเราถาม ชาวบ้านสอนว่า อาจารย์ ต้นมะม่วง ลูกมะม่วง เป็นของอาจารย์ แต่ไข่มดแดง ไม่ใช่ มันอยู่ตามธรรมชาติ”

เหตุการณ์ไข่มดแดงทำให้นักมานุษยวิทยารุ่นใหญ่แห่งสำนักเชียงใหม่เกิดจุดเปลี่ยนทางความคิดสำคัญว่า “ต้นมะม่วงต้นเดียวจึงมีหลายสิทธิ ฉะนั้น ‘สิทธิ’ จึงมี ‘สิทธิซ้อน’...เป็นที่มาของความคิดเชิงซ้อน...พวกนักวิชาการตะวันตกก็คิดเรื่อง reflexivity [การสะท้อนย้อนกลับ] มันคล้ายกัน”

 สิ่งสำคัญคือ ชาวบ้านได้นำเอาวิธีคิดเชิงซ้อนของอาจารย์อานันท์ไปใช้ อย่างเช่นเรื่อง โฉนดชุมชน ที่สามารถผลักดันให้อยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (พ.ศ.2540) ได้ เป็นการเอาความคิด ความรู้ ของตนเอง สะท้อนย้อนมาอ้างสิทธิ

อาจารย์อานันท์ย้ำว่าแนวคิดเรื่อง “ความคิดเชิงซ้อน” ที่แปล “ความรู้ให้เป็นสิทธิ” มันเป็นตัวอย่างสังคมศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงสังคม สังคมศาสตร์คือ “เราใช้ความรู้ให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงอย่างมีพลัง”

อาจารย์วสันต์ได้สรุปสิ่งที่อาจารย์อานันท์กล่าวว่า สังคมศาสตร์ต้องเชื่อมโยงกับสังคม ต้องมีพลังและมีรากฐานมาจากที่ต่าง ๆ (เช่น ความรู้ท้องถิ่น) จากนั้น ก็ได้แนะนำวิทยากรคนต่อมา คือศ.ดร.ยศ สันตสมบัติ ที่ทำประเด็นปัญหาการวิจัยที่หลากหลาย รวมถึงการทำงานข้ามพรมแดนมามากกว่า 10 ปี

สังคมศาสตร์ไทยใต้ชะเงื้อมเสรีนิยมใหม่

ศ.ดร.ยศ สันตสมบัติ อีกหนึ่งอาจารย์อาวุโสแห่งสำนักเชียงใหม่ ได้ตั้งหัวข้อการเสวนาของตนว่า “สังคมศาสตร์ไทยใต้ชะเงื้อมเสรีนิยมใหม่” โดยมองกระแสสังคมศาสตร์ภายใน 5 ปีข้างหน้าเป็นอย่างน้อย อย่างไรก็ตาม อาจารย์ยศได้ย้อนไปถึงเหตุปัจจัยสำคัญต่อกระแสสังคมศาสตร์ ที่มาจากเหตุการณ์วิกฤติเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง” พ.ศ.2540 เงื่อนไขที่รัฐต้องทำตามกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(International Monetary Fund หรือ IMF) คือการ privatization  หรือการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ อันเป็นผลให้มหาวิทยาลัยต้องทยอยกันออกนอกระบบ

เมื่อมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ มหาวิทยาลัยจึงมุ่งเน้นเรื่องการประกันคุณภาพ “เสรีนิยมพูดถึงเรื่องคุณภาพตลอดเวลา... เสรีนิยมใหม่ทำให้เกิดการออกนอกระบบ และเกิดการรวมศูนย์อำนาจ...อย่างลืมว่า มหาวิทยาลัย เคยมีเสรีภาพทางวิชาการ พอออกนอกระบบจะมีการรวมศูนย์ ผู้บริหารมีอำนาจ เสรีภาพถูกลดทอนลง”

ก่อนที่จะกล่าวถึงผลกระทบเสรีนิยมใหม่ที่มีต่อสังคมศาสตร์ อาจารย์ยศได้ย้อนอธิบายถึงตัวตนของสังคมศาสตร์ที่มันเป็นอยู่ คือ

“...วิชาทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ เป็น liberal art เป็นศาสตร์ที่ปูพื้นฐานให้ผู้ศึกษาเป็นคนที่สมบูรณ์ มีความสุข เข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้น รอบรู้ เรียนรู้ไปตลอดชีวิต...สังคมศาสตร์ปูพื้นฐานให้นักศึกษาเข้าใจความซับซ้อนของสังคม เคารพศักดิ์ศรีความหลากหลายของความเป็นมนุษย์...สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ เป็นพื้นฐานในการศึกษาระดับสูง ให้สาขาอื่นต่อยอด เช่น กฎหมาย หมอ วิศวกรรมศาสตร์” ด้วยเหตุที่ศาสตร์ทางสังคมและมนุษย์เป็นเช่นนี้ จึงไม่สามารถผ่านระบบตรวจสอบ และระบบประกันคุณภาพได้

ผลกระทบโดยตรงของเสรีนิยมใหม่ต่อสังคมศาสตร์คือ “ทำให้สาขาวิชาและคณะอ่อนแอลง...อาจารย์มีภาระการงานมากขึ้น สอนเหมือนครูประชาบาล สอนตั้งแต่ ป.ตรี จนถึง ป.เอก...ที่สังคม มช. มีนักศึกษาในที่ปรึกษามากกว่า 5 คน ต้องไปอธิบายมหาลัย...ทุนวิจัยน้อยลง ไม่มีงบประมาณมาทางด้านสังคมศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์มากเท่าไหร่ เมื่อเทียบกับสายวิทยาศาสตร์...การบริหารจัดการของมหาลัยเป็นแบบอำนาจนิยม…สนใจเรื่องการจัดอันดับมากกว่าการให้ความรู้” แต่กระนั้น อาจารย์ยศก็ให้ทัศนะว่า ผลกระทบข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลกระทบจากเสรีนิยมใหม่เท่านั้น ประเด็นที่อยากจะเน้นนำเสนอคือ

“สิ่งที่ผมอยากจะบอกคือ อาจารย์รุ่นใหม่ๆ คือผลผลิตของเสรีนิยมใหม่ พวกเขากลายเป็น neoliberal subject”

สิ่งที่เรียกว่า neoliberal subject คือสภาพการณ์ที่พนักงานและอาจารย์มหาวิทยาลัยกลายเป็นผู้อยู่ภายใต้เงื้อมเงาเสรีนิยมใหม่ “...พวกเขามีความมั่งคงน้อยลง แต่มีความกดดันมากขึ้น อาจารย์ต้องสอนมากขึ้น โอกาสทำวิจัยน้อยลง มีสวัสดิการ และเสรีภาพน้อยลง...ต้องผ่านการประเมิน ซึ่งมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้ทำจริงจังอะไร”

 อาจารย์ยศยังชี้ให้เห็นว่า neoliberal subject ได้ส่งผลให้แนวโน้มนิสัยและความคิด (habitus) ของนักวิชาการรุ่นใหม่เปลี่ยนไปอย่างยิ่งยวด

“นักวิชาการสมัยก่อน มีความมั่นคงพอสมควร...การสอนจึงเป็นปีติ (ของอาจารย์อานันท์)...แต่นักวิชาการรุ่นใหม่ มีลักษณะเป็นนักวิชาการชั่วคราว ลังเล แทงกั๊ก...ความเป็นครูน้อยลง การสอนกลายเป็นความทุกข์ การให้คำปรึกษาวิทยานิพนธ์กลายเป็นภาระ”

ต่อจากนั้น อาจารย์ยศได้วิพากษ์วิจารณ์นักวิชาการรุ่นใหม่เชิงขบขำอำแอบแต่แสบสันต์ ว่า

“กลุ่มนี้ ชอบไปงานเสวนา เขียนบทความ นั่งสังสรรค์ ถ่ายรูปลงสื่อออนไลน์...โอกาสทำวิจัยน้อยลง เก็บประเด็นเดิมมาทำใหม่...อ่านดารา (นักสังคมศาสตร์ที่มีชื่อเสียง เช่น มิเชล ฟูโก อรชุน อัปปาดูรัย เดวิด ฮาร์วี) แล้วนำมาวิเคราะห์เป็นประเด็นย่อย แต่ขาดงานสนามที่เชื่อมโยงกับบริบทสังคมไทย...สำหรับนักวิชาการที่ขาดงานสนาม ก็เหมือนคนตาปิด”

อย่างไรก็ตาม อาจารย์ยศกล่าวแก้ว่า ไม่ได้มุ่งให้มองตัวนักวิชาการ หากแต่ทั้งหมดดังกล่าวเป็นผลมาจากการที่พวกเขาเหล่านี้อยู่ใต้เงื้อมเงาเสรีนิยมใหม่นั้นเอง

เสรีนิยมใหม่คือเหตุปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักวิชาการยุคหลังต้องกลายเป็น “ไม้ตายซาก อยู่ในสุสานทางปัญญา...และส่งผลให้สังคมอ่อนแอ ทั้งหมดมันเป็น อิทัปปัจจยตา (สภาวะเป็นเหตุปัจจัยต่อเนื่องกันไปเช่นนั้น)”

 

จากการกล่าวเกริ่นถึงความน่ากลัวของเสรีนิยมใหม่ต่อวงวิชาการสังคมศาสตร์แล้ว ต่อมาอาจารย์ยศได้เสนอทางออกจากสุสานทางปัญญาดังกล่าว

“สอน วิจัย เขียน และบริการสังคม” คือ 4 สิ่งที่นักวิชาการต้องยึดถือปฏิบัติเป็นสรณะ นอกจากนี้อาจารย์ยังแนะนำว่า “นักวิชาการต้องเลิกยึดติดกับ discipline (แบบแผนสาขาวิชา) ของตนเอง เช่น ประวัติศาสตร์ทำประเด็นของมานุษยวิทยาได้อย่างไร เป็นความคิดแบบไม่เข้าท่านัก...ต้องเลิกยึดติดกับรอยฉี่ของตนเอง...นักภูมิศาสตร์อย่าง David Harvey ยังมาเป็นนักมานุษยวิทยา...เราต้องอยู่นอกคอก เป็นชนชายแดน...หยิบส่วนดีๆ ของสาขาอื่นๆ มาร่วมศึกษา เพื่อทำให้เรามีอนาคต”

อาจารย์ให้ข้อเสนอเกี่ยวกับทางออกจากสุสานทางปัญญาว่า

“เราต้องดิ้นรนออกไปเสพสังวาส (มั่วสุมในทางที่ดี)กับสาขาวิชาอื่น  โดยการทำวิจัยร่วม มีหลักสูตรร่วม สอนร่วม( ภายใต้กรอบคิดที่เรียกว่า interdisciplinary / transdisciplinary) และต้องยืนหยัดเสรีภาพในทางวิชาการด้วย”

 

ขณะเดียวกัน อาจารย์อานันท์ได้ร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็นสุสานทางปัญญาว่า “ผมว่า ไม่ว่าศาสตร์ทางวิชาการหรือวิชาชีพก็มี 4 ส่วนสำคัญคือ ความคิด วิธีการ การเป็นสาธารณะ และการวิพากษ์วิจารณ์...ผมได้ไปเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย มีแต่เรื่อง วิธีการ (how to) แต่ขาดเรื่อง ความคิด ซึ่งมันทำให้แยกผิดชอบชั่วดีไม่ได้...สายสังคมศาสตร์ต้องเน้น ความคิด ความเป็นสาธารณะ และการวิพากษ์วิจารณ์ เพราะความแตกต่างหลากหลายเป็นคุณสมบัติของสังคมศาสตร์...แต่ตอนนี้สังคมศาสตร์ไปเน้นวิธีการ จนกลายเป็นเรื่องวิชาชีพอย่างเดียว”

อาจารย์อานันท์เสนอทางออกปัญหานี้ด้วยการสร้าง “สถาบันหรือกลไกทางสังคมใหม่ๆ” “สถาบันอย่าง บ้าน วัด โรงเรียน มันไม่พอแล้ว...ตัวอย่างเช่น การจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า จัดการเชิงเดี่ยว (รัฐทำอย่างเดียว) ทำไม่ได้ ต้องให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม ทำงานวิจัยร่วมกับชุมชน ร่วมกันกับต่างสถาบัน ต่างถิ่น ต่างคน...” เช่นเดียวกับวงการสังคมศาสตร์ “สังคมศาสตร์อยู่แค่ในสถาบันไม่ได้ ต้องออกไปข้างนอก”

 สุดท้ายอาจารย์ยศเสนอเป็นคำขวัญว่า สสอ. คือ สี่วิชาการความคิด (วิธีการ การเป็นสาธารณะ และการวิพากษ์วิจารณ์) สร้างเสริมสถาบัน และออกไปนอกสถาบัน”

ลำดับต่อมา อาจารย์วสันต์สรุปให้เห็นว่า ทั้งอาจารย์อานันท์และอาจารย์ยศเสนอทางออกจากสุสานทางปัญญาอย่างพ้องกันในเรื่อง “4 สรณะ กับ 4 วิชาการ” ก่อนที่จะเปิดเวทีให้ผู้เข้าร่วมงานแลกเปลี่ยนซักถาม

มีผู้เข้าร่วมเสวนาถามคำถามว่า นักวิชาการควรมีแนวคิด วิธีการ ในการเคลื่อนไหวต่อสู้ในประเด็นปัญหาทางสังคมอย่างไร ซึ่งอาจารย์อานันท์ได้ตอบว่า

“ต้องทำแบบ วิชาการ คือ มีการประชุม มีข้อมูลพื้นฐานชัดเจน...การเคลื่อนไหว ถ้าทำด้วยความรู้สึก ใครๆ ก็ทำได้ [นักวิชาการ] ต้องทำผ่าน ความรู้ ความหนักแน่น เพราะมันเคลื่อนไหวสังคมได้จริง” โดยอาจารย์อานันท์ได้ยกตัวอย่างเรื่อง แนวคิดป่าชุมชนที่สามารถโยงไปถึงสิทธิชุมชนอันปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (พ.ศ.2540) อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ตอนนี้ สิทธิเรื่องป่าชุมชนไม่ได้ระบุในรัฐธรรมนูญแล้ว แต่ “ป่าชุมชน กลายเป็น วาทกรรม มันฝังไปในหัวของคน ชุมชน แม้กฎหมายจะยกเลิก แต่ความคิด ความรู้นี้ก็ยังอยู่...เราต้องนำความเข้าใจใหม่ให้กับสังคม ...ความคิดนั้นจะเป็นตัวเคลื่อนสังคมเอง...เป็นการเกิดใหม่ทางความคิดที่ผู้อื่นสามารถเข้าใจและคิดตามได้”

ในช่วงแรกของการเสวนา การปราศรัยจับกระแสสังคมศาสตร์ของ 2 ศาสตราจารย์สำนักเชียงใหม่จบลงแล้ว ซึ่งถือได้ว่าเป็นมุมมองจากคนในสาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ในช่วงต่อมาคือมุมมองของคนนอกสาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ดังเช่นศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์กับศาสตราจารย์ด้านปรัชญา

 

วิพากษ์สังคมศาสตร์สังคมศาสตร์ของสังคมไทย ด้วยสังคมศาสตร์แบบนักวิชาการ

 

คนนอกคนแรกคือ ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์จากภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อีกทั้งยังเป็นแกนนำคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน[1] อาจารย์อรรถจักรเริ่มต้นด้วยการอธิบายว่า ความรู้ทางสังคมศาสตร์แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ 1) ความรู้ทางสังคมศาสตร์ของสังคมไทย ดังเช่น ความรู้เรื่องความเป็นไทยที่แฝงฝังในหัวคนไทยมาเนิ่นนาน 2) ความรู้ทางสังคมศาสตร์แบบนักวิชาการ ดังเช่น งานต่างๆ ที่อาจารย์อานันท์และอาจารย์ยศได้ทำมาทั้งชีวิต

จากนั้นอธิบายว่า “สังคมศาสตร์ในไทย” เป็นเช่นไร โดยยกคำวิพากษ์สังคมไทยของอาจารย์อานันท์ดังว่า “สังคมศาสตร์ในไทยไร้น้ำยา เพราะไม่ผลักดันให้คนรับรู้ความจริงทางสังคมอย่างที่ควรจะเป็น...ตัวชี้วัดว่า สังคมศาสตร์ในไทยไร้น้ำยา ก็คือ เรายังฆ่ากันในเกตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เหตุการณ์พฤษภามหาวิปโยค และมีการปฏิวัติรัฐประหาร พ.ศ.2549 และ พ.ศ.2557”

กระนั้นก็ดี อาจารย์อรรถจักร์ยังปลอบใจว่า “สังคมศาสตร์สำนักเชียงใหม่ยังมีน้ำยาอยู่ แต่ก็ไม่สามารถทำให้สังคมเข้าใจได้เต็มที่” อาจารย์ได้ยกตัวอย่างคดีที่แม่อมกิ อันเป็นคดีปัญหาการครอบครองที่ดินระหว่างรัฐกับชาวบ้าน ซึ่งชาวบ้านชนะด้วยการใช้องค์ความรู้ทางสังคมศาสตร์เป็นพลังในการสร้างอำนาจและสิทธิ แต่คดีที่ทุ่งป่าคา คดีที่รัฐเข้าจับกุมชาวบ้านที่มีไม้ครอบครอง ชาวบ้านไม่สามารถใช้ความรู้ทางสังคมศาสตร์ต่อสู้ชนะได้

โดยอาจารย์อรรถจักร์ได้ให้เหตุผลสำคัญที่สังคมศาสตร์ในไทยยังไร้น้ำยาว่า

“ชาวบ้านได้หยิบยก [แนวคิดทางสังคมศาสตร์] ไปใช้ แต่มันไม่ฝังในหัวของคนในสังคม ชนชั้นกลางในเมืองยังไม่เห็นด้วย...ความไม่มีน้ำยา เกิดขึ้น เพราะไม่สามารถแย่งชิงพื้นที่ของความรู้ในระบบได้ ไม่สามารถกลายไปเป็นความรู้ที่ประกอบสร้างในสังคมส่วนบน...เราไม่สามารถช่วงชิงต่อรอง เอาความรู้นอกสถาบันมาต่อสู้ได้...สังคมศาสตร์จึงไร้น้ำยา”

ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกล่าวถึงเหตุที่สังคมศาสตร์ในไทยไม่เข้าใจสังคมไทยอย่างที่ควรจะเป็นนั้นมาจากปัจจัยเรื่องความเป็นไทย ที่มีรากหน่อมาจากทฤษฏีองคาพยพ[2] กล่าวคือ ผู้คนในรัฐหรือสังคมไทยกลายมาสู่การเป็นส่วนหนึ่งของรัฐแต่เป็นส่วนที่ไม่สำคัญนัก เปรียบเป็นเส้นผม เมื่อขาดไปเส้นหนึ่งก็ไม่เป็นไร หากขาดหลายเส้นก็อาจจะดูโหรงเหรง[3]

ทฤษฏีองคาพยพในสังคมไทยได้สร้างภาพ ความคิด ให้กับคนในสังคมไทยอย่างแยบยล “ในองคาพยพ หมายังไม่อดตาย หรือ ไม่มีความยากจนในหมู่คนขยัน” แต่ที่จริงมันเอื้อประโยชน์แก่คนบางกลุ่มบางพวกเท่านั้น ที่จริงแล้ว “ทฤษฏีองคาพยพมันสร้าง คนอื่น (the other) ขึ้นมา” ดังจะเห็นความเดือดร้อน และความอยุติธรรมเกิดแก่ชนชั้นล่าง ชนชายขอบ คนตัวเล็กตัวน้อยนั้นเอง

ไม่เพียงแต่ชนชั้นกลางเท่านั้น ที่ไม่สามารถหลุดออกจากทฤษฏีองคาพยพได้ ปัญญาชน นักวิชาการบางกลุ่มในปัจจุบันก็ติดกับดักนี้ด้วย

“...ถ้าอ่านกรัมชี่ (Antonio Gramsci) ดีๆ ท่านพูดถึงรัฐองค์รวม เราต้องสร้าง civil society (สังคมภาคประชาชน) ภายในรัฐ ไม่ใช่แยกออกจากรัฐ” อาจารย์อรรถจักรอธิบายว่า นักวิชาการ ปัญญาชนบางกลุ่มเข้าใจผิดว่า ภาคประชาสังคมมันต้องเป็นปฏิปักษ์กับรัฐ ดังที่พวกเขาเหล่านั้นสนับสนุนการปฏิวัติอย่างออกหน้า “...จึงไม่แปลกใจว่า คนที่ประกาศตัวว่าเป็น civil society ปัจจุบันกลายประกาศเป็น evil society (สังคมภาคซาตาน)”

ดังนั้น “สิ่งที่เราต้องคิดใหม่ คือ จะสถาปนา civil society ที่รัฐสร้างมายังไง” เพื่อทำให้สังคมไทยไม่ไร้น้ำยา ต้องสร้างความรู้ที่สามารถช่วงชิงพื้นที่ civil society ภายในรัฐให้ได้

อาจารย์อรรถจักร์เสนอให้นักวิชาการด้านสังคมศาสตร์ช่วงชิงพื้นที่ civil society ให้ได้ ท่านกล่าวว่า “นักวิชาการต้องเป็น OI (organics intellectuals) ปัญญาชนของชนชั้น” คือการเป็นปัญญาชนที่รับใช้ชนชั้นล่าง ชนชั้นผู้ถูกเอารัดเอาเปรียบ ต้องคิดและทำงานเพื่อช่วงชิงพื้นที่ civil society และเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของสังคมได้อย่างเท่าทันแม่นยำ “จะเปลี่ยนสังคมที่ตายแล้วอย่างไร”

การทำสิ่งเหล่านั้น ก็อาจทำด้วยการทำงานดังเช่นอาจารย์อานันท์และอาจารย์ยศชี้แนะ ขณะที่อาจารย์อรรถจักรกล่าวให้กำลังใจ

“แม้ว่าอาจารย์ยศจะเปิดกล่องแพนโดร่า [เชื่อมโยงไปถึงความชั่วร้ายของสังคมศาสตร์ที่อาจารย์ยศเรียกว่า สุสานทางปัญญา] แต่ใต้กล่องยังมี ‘ภูติแห่งความหวัง’ ที่จะฉายไปสู่ทางออกแห่งสุสานทางปัญญา...วันนี้เราอาจจะไร้น้ำยา แต่เราต้องมีความหวัง เพื่อสู่ความ สงบ สันติ และเข้าใจกัน…อาจารย์ยศ เปิดกล่องแพนโดร่า ด้วยความเป็นห่วง…ถ้าเราร่วมกันสร้าง เราก็จะมีน้ำยา”

 

ความจริง ความรู้ คุณูปการ ในกระแสสังคมศาตสตร์

ในงานเสวนานี้ นอกจากอาจารย์อรรถจักร ที่เป็นตัวแทนมุมมองของคนนอกสาขาวิชา แต่หลายครั้งท่านก็มีส่วนร่วมกับสำนักเชียงใหม่เช่นกัน ดังนั้นงานนี้จึงมีอีกมุมมองจากต่างสาขาและต่างสำนักดังเช่น ศ.ดร.สุวรรณา สถาอานันท์ แห่งภาควิชาปรัชญา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อาจารย์สุวรรณากล่าวเกริ่นว่าจะจับกระแสสังคมศาสตร์จาก 3 ประเด็นด้วยกันคือ  วิจารณ์หนังสือ “จับกระแสสังคมศาสตร์ : รวมบทความวิชาการ 50 ปี สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา เชียงใหม่”, วิชามานุษยวิทยา ให้ความรู้แบบไหน (ในเชิงปรัชญา)  และที่ผ่านมามานุษยวิทยา มีคุณูปการอย่างไรต่อสังคมศาสตร์บ้านเรา

ในประเด็นแรก อาจารย์สุวรรณากล่าวถึงหนังสือ “จับกระแสสังคมศาสตร์: รวมบทความวิชาการ 50 ปี สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา เชียงใหม่” ว่าเป็น “หนึ่งหยดน้ำในกระแสสังคมศาตสตร์” เนื้อในมีเรื่องน่าสนใจ น่าตื่นเต้น มากมาย อาทิเช่น มีการสร้างความรู้ผ่านกาลเวลา (ประวัติศาสตร์) กลุ่มคน กลุ่มชาติพันธุ์ ผ่านการเมืองเรื่องวัฒนธรรม เช่นประเด็นปัญหาในชายแดนใต้ มีบทความเชิงทฤษฏีที่ยกระดับปรากฏการณ์รูปธรรมให้เป็นนามธรรมที่สูงมาก มีบทความที่แสดงถึงตัวตนของผู้ศึกษา (subjectivity) ในสนาม เช่น งานอาข่าไนท์บาร์ซ่าของอาจารย์ไพโรจน์ที่ฉายให้เห็น 2 ประธาน คือผู้วิจัยที่อยากได้ข้อมูลปะทะกับอาข่าที่อยากขายของ “เป็นการหาความรู้ท่ามกลางการขายของ” นอกจากนี้ยังมีคำสารภาพของนักวิจัย “ที่รู้สึกผิด ที่ไปเบียดเบียนผู้ถูกศึกษา ซึ่งทำให้เห็น subject of meaning แบบหนึ่งด้วย”

ประเด็นต่อมา อาจารย์สุวรรณาเปรียบวิชาทางมานุษยวิทยา ว่าเป็นส่วนผสมของวิชาประวัติศาสตร์และวิชาสถาปัตยกรรม คือเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ เป็นศาสตร์ที่ “ศึกษาสิ่งที่มีอยู่จริงในโลกนี้ ไม่ชี้ถูกชี้ผิด ไม่ตัดสิน” แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นศิลป์ “พยายามเข้าใจ ‘เขา’ (คนอื่น) อย่างที่เขาบอก อย่างที่เขาเป็น ขณะเดียวกันก็เข้าใจตนเอง...ไม่ฝังตัว (embed)…ผู้วิจัยก็เป็นเครื่องมือในการศึกษาที่รู้ร้อนรู้หนาว...เป็นความรู้ที่เกิดจากการเผชิญหน้ากันระหว่าง ประธาน (subject) 2 ประธานขึ้นไป” ดังตัวอย่างความรู้จากเรื่องไข่มดแดงของอาจารย์อานันท์แสดงให้เห็นว่า “ความจริงทางมานุษยวิทยาคือ ความจริงเชิงอัตวิสัย (subjective) ไม่ใช่ความจริงที่เอาตัวผู้ศึกษาออกไป...มานุษยวิทยามี ‘ตัวตนอยู่ในความจริง’”

ความรู้แบบมีตัวตนอยู่ในความจริงนี้ นำไปสู่ประเด็นสุดท้ายที่ว่า ความรู้แบบนี้จะมีพลังอธิบายสังคมอย่างไร

อาจารย์สุวรรณากล่าวว่านักมานุษยวิทยาสามารถ “อยู่ในชีวิตจริงที่มีเรื่อง อารมณ์ อุดมการณ์ และข้อเท็จจริง ได้เป็นอย่างดี” ดังนั้นความรู้แบบมานุษยวิทยาจึง “เป็นความรู้ที่ไม่สร้างกฎสากล...ตระหนึ่งในความเป็น agency ของผู้ถูกศึกษา และสามารถแปรเปลี่ยนผู้ศึกษาเองด้วย” และคุณูปการสำคัญของศาสตร์ทางมานุษยวิทยาคือ “พยายามช่วยคนตัวเล็กตัวน้อย มันคือความรู้ที่คู่ควรกับสังคม” อาจารย์สุวรรณาย้ำปิดท้ายการจับกระแสสังคมศาสตร์ว่า “สังคมไทยถ้าจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีนั้น ด้วยความรู้แบบนี้ [แบบมานุษยวิทยา] ก็จะเปลี่ยนได้จริง”

 


[1] มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เป็นกลุ่มนักวิชาการที่มารวมตัวกันเพื่อถกเถียง สนทนา ปัญหาเกี่ยวกับศิลปะ วิทยาศาสตร์ ปรัชญา มาแลกเปลี่ยนความรู้ข้ามสาขาวิชากัน ขับเคลื่อนโดยกลุ่มอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

[2] ทฤษฎีองคาพยพ (Organic Theory) เกิดขึ้นในสังคมจารีตที่มีโครงสร้างทางชนชั้นที่แข็งแรงและตายตัว การเลื่อนชนชั้นเป็นไปได้ยาก การที่จะทำให้คนกลุ่มต่างๆ ที่ไม่มีโอกาสเลื่อนชนชั้นได้ยอมรับในความแตกต่างก็ต้องสร้างกรอบความคิดหลักที่ทำให้คนต้องสยบยอมอยู่ภายใต้อำนาจของชั้นนำ ดังนั้น การสร้างจินตนาการให้ผู้คนในสังคมมองเห็นและยอมรับความแตกต่างของกลุ่มคนจากสถานะและบทบาท/หน้าที่ที่แต่ละกลุ่มพึงมีต่อสังคม โดยสร้างความเปรียบกับอวัยวะต่างๆ ของร่างกายที่ร่วมกันประกอบเป็นมนุษย์ และกลายเป็นหลักสัจจะที่ทุกคนต้องยอมรับ (บทความของ อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ใน www.bangkokbiznews.com/blog/detail/492651)

[3] สรุปมาจากบทความที่อาจารย์อรรถจักร์ ได้เขียนใน  www.bangkokbiznews.com/blog/detail/492651 โดยอาจารย์ได้นำบทเสวนาในงานนี้ไปเรียบเรียงและให้รายละเอียดในบทความดังกล่าว

รูปภาพเพิ่มเติม

ขอขอบคุณรูปภาพจาก Nuttapon Sukitsukswas