เก่งกิจ กิติเรียงลาภ
อาจารย์ประจำ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
พนา กันธา
นักวิจัยยุทธศาสตร์เชิงรุก สำนักงานบริหารงานวิจัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
พีรณัฐ พฤกษารัตน์
นักวิชาการอิสระ
เข้าถึงได้จาก รื้อถอนสภาวะอาณานิคมและการสร้างโลกผ่านการเล่าซ้ำปรัมปราในวรรณกรรมของ Easterine Kire | รัฐศาสตร์สาร (tci-thaijo.org)
บทคัดย่อ
บทความนี้มีเป้าหมายเพื่อทำความเข้าใจภูมิปัญญาเชิงนิเวศของชาวนากาผ่านวรรณกรรมของ Easterine Kire ซึ่งเป็นวรรณกรรมที่นำมุขปาฐะของชาวนากามาเล่าใหม่ วรรณกรรมของเธอมุ่งไปที่การโต้ตอบกับมรดกของลัทธิอาณานิคม รวมถึงการหาทางเลือกอื่นที่นอกเหนือจากแนวคิดชาตินิยมที่มาพร้อมกับคริสต์ศาสนา Kire นำตำนานปรัมปราของนากามาเพื่อเล่าเรื่องความสัมพันธ์ทางสังคมและโลกของชาวนากาขึ้นมาใหม่ที่มีลักษณะเชื่อมโยงกันของบุคคลต่าง ๆ ทั้งที่เป็นมนุษย์และสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ ข้อเสนอของบทความคือ วรรณกรรมของเธอคือการหันไปสู่คำถามว่าด้วยสภาวะของโลกของชาวนากาซึ่งเป็นสภาวะการดำรงอยู่ที่ชาวนากามีร่วมกัน โดยที่ความเป็นนากาหมายรวมถึงทั้งสิ่งที่เป็นมนุษย์และไม่ใช่มนุษย์ เรื่องเล่าของเธอมุ่งไปสู่การปฏิเสธการมองว่า “โลก” ดำรงอยู่อยู่แล้วแบบตายตัวและเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่โลกก็คือกระบวนการที่ก่อรูปขึ้นใหม่อยู่ตลอดเวลาท่ามกลางความสัมพันธ์ของสิ่งต่าง ๆ ในแง่นี้ ภูมิปัญญาเชิงนิเวศของชาวนากาไม่เพียงแต่เป็นการจัดวางความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับโลกเท่านั้น แต่ยังสามารถเป็นพลังทางการเมืองได้ในฐานะที่แสดงให้เห็นการต่อต้านข้อจำกัดของมโนทัศน์บุคคลตามจารีตแบบตะวันตก ดังนั้น เรื่องเล่าใหม่เหล่านี้จึงไม่ได้ทำหน้าที่แค่ปลดปล่อยชนชาวนากาออกจากชาตินิยมอินเดียและอาณานิคมอังกฤษเท่านั้น แต่เรื่องเล่าใหม่นี้กลับเปิดพื้นที่ให้กับการคิดและจินตนาการถึงการปลดปล่อยอินเดียออกจากมรดกลัทธิอาณานิคมได้ด้วย กล่าวดังนี้แล้ว วรรณกรรมของ Kire คือกระบวนการสำรวจตรวจสอบเพื่อรื้อถอนสภาวะอาณานิคม เพื่อชี้ให้เห็นข้อจำกัดและอำนาจครอบงำของอาณานิคมและชาตินิยม พร้อมทั้งเสนอทางออกคือ การกลับไปหาภูมิปัญญาเชิงนิเวศของชาวนากา